ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

พิพากษาคดีสลายการชุมนุม พธม. 2 ส.ค.นี้ -สมชาย ลั่นไม่ละเมิดกฎหมาย

การเมือง
30 มิ.ย. 60
14:39
2,512
Logo Thai PBS
พิพากษาคดีสลายการชุมนุม พธม. 2 ส.ค.นี้ -สมชาย ลั่นไม่ละเมิดกฎหมาย
สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี แถลงปิดคดีด้วยวาจา ยืนยันไม่ได้ออกคำสั่งที่ละเมิดกฎหมายคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรปี 2551 ศาลนัดพิพากษา 2 ส.ค.นี้

วันนี้(30 มิ.ย.2560) ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นายธนสิทธิ นิลกำแหง ประธานแผนกคดีเลือกตั้ง เจ้าของสำนวนคดีสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือ พธม.และผู้พิพากษาองค์คณะรวม 9 คน ได้นัดไต่สวนพยานจำเลยนัดสุดท้าย คดีหมายเลขดำ อม.2/2558 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี,พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี,พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผบ.ตร. และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผบช.น. เป็นจำเลยที่ 1-4  

ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎ หมายอาญา มาตรา 157 ,กฎหมายป.ป.ช.และรัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นการไต่สวนพยานจำเลย ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 รวม 5 ปาก

ขณะที่นายสมชาย จำเลยที่ 1 แถลงปิดคดีด้วยวาจา อ้างอิงถึงความจำเป็นที่ต้องแถลงนโยบายที่รัฐสภาหลังได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ถูกผู้ชุมนุมพันธมิตรฯ ขัดขวาง และเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต แต่ยืนยัน ไม่มีคำสั่งใดที่ละเมิดกฎหมาย และไม่ได้สั่งการให้ใช้แก๊สน้ำตา

หลังนายสมชาย แถลงปิดคดี ศาลฎีกาฯ นัดให้จำเลยที่ 2 ถึง 4 ส่งเอกสารคำแถลงปิดคดีภายในวันที่ 20 ก.ค.นี้พร้อมนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 2 ส.ค.นี้

ขณะที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ไม่แสดงความเห็นหลังน้องชาย เป็น 1 ในจำเลย เพราะถือเป็นคนละคนกัน

 



คดีนี้ป.ป.ช.ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสี่คน เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2558 ประทับรับฟ้องวันที่ 9 ก.พ. 2558 และนัดสอบคำให้การครั้งแรกวันที่ 11 พฤษภาคม ปีเดียวกัน ก่อนไต่สวนพยานนัดแรกวันที่ 8 เม.ย. 2559 และนัดสุดท้ายในวันนี้ ก่อนพิพากษาคดีในวันที่ 2 ส.ค.นี้

ก่อนหน้านี้มีรายงานว่า มีความพยายามให้ ป.ป.ช.ที่มีพลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ เป็นประธาน ถอนฟ้องคดีนี้ หลังจำเลยทำหนังสือขอความเป็นธรรมต่อ ป.ป.ช.อ้างอิงกรณีอัยการไม่ฟ้องคดีจน ป.ป.ช.ต้องยื่นฟ้องเอง และเทียบเคียงกับคดีสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช.เมื่อปี 2553 ในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ ป.ป.ช.ยกคำร้อง แต่ ป.ป.ช.ยืนยันว่า ไม่สามารถถอนฟ้องได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง