ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เตรียมใช้ พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก

สังคม
11 ก.ค. 60
11:04
1,874
Logo Thai PBS
เตรียมใช้ พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก
พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารก และเด็กเล็ก พ.ศ.2560 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว โดยจะมีผลบังคับใช้ในอีก 60 วัน

วันนี้ (11 ก.ค.2560) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็ปไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารก และเด็กเล็ก พ.ศ. 2560 โดยมีสาระสำคัญเพื่อควบคุมการโฆษณา รวมถึงการเผยแพร่ข้อมูลทางวิชาการ การให้ข้อมูลอาหาร ซึ่งหมายถึง นม หรือผลิตภัณฑ์อื่นที่ใช้เป็นอาหาร อาหารเสริม เด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 12 เดือน และเด็กเล็กที่มีอายุระหว่าง 12 เดือน - 3 ปี

โดยข้อห้ามสำคัญคือ ห้ามโฆษณาอาหารสำหรับเด็กเล็กที่เข้าข่ายสร้างความเชื่อมโยง และทำให้เกิดความเข้าใจว่าเป็นอาหารสำหรับทารก หรือเหมาะสำหรับใช้เลี้ยงทารกในสื่อโฆษณา

ส่วนการส่งเสริมการตลาดนั้น ห้ามผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จำหน่ายหรือตัวแทน กระทำการ 4 ข้อ ได้แก่

1.ห้ามแจกหรือให้คูปองหรือสิทธิส่วนลด ขายพ่วงแลกเปลี่ยนหรือให้ของขวัญของรางวัล

2.ห้ามแจกอาหาร และอาหารตัวอย่างไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม

3.ห้ามให้อาหารสำหรับทารกหรือเด็กเล็ก แก่หญิงตั้งครรภ์ หญิงที่มีบุตรเป็นทารกหรือเด็กเล็ก หรือบุคคลในครอบครัว

4.ห้ามติดต่อหญิงตั้งครรภ์ หญิงที่มีบุตรซึ่งเป็นทารกหรือเด็กเล็ก หรือบุคคลในครอบครัว เพื่อส่งเสริม สนับสนุนหรือแนะนำให้ใช้อาหารสำหรับทารกหรือเด็กเล็ก

ขณะที่พฤติกรรมและข้อห้ามของผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จำหน่ายหรือตัวแทนจำหน่าย มีข้อห้ามอย่างเด็ดขาดใน 4 เรื่อง ได้แก่ 

1.เสนอของขวัญ เงิน สิ่งจูงใจ หรือประโยชน์อื่นใดแก่บุคลากรด้านสาธารณสุข เว้นแต่การทำตามประเพณีหรือธรรมจรรยาตามเงื่อนไข หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกำหนด

2.จัดหรือให้การสนับสนุนการประชุม อบรม สัมมนาวิชาการเกี่ยวกับอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก แก่หน่วยบริการสาธารณสุข บุคลากรด้านสาธารณสุข หญิงตั้งครรภ์ หรือหญิงที่มีบุตรที่เป็นทารกหรือเด็กเล็ก เว้นแต่เป็นการสนับสนุนองค์กรวิชาชีพด้านสาธารณสุขและสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับสุขภาพของแม่และเด็ก ตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

3.สาธิตหรือสนับสนุนการสาธิตการใช้อาหารสำหรับทารกหรือเด็กเล็กในหน่วยบริการสาธารณสุขหรือสถานที่อื่นใดเพื่อหวังประโยชน์ทางการค้า ซึ่งประเด็นข้อห้ามดังกล่าวยกเว้นกับการรักษาทารกหรือเด็กเล็กในทางการแพทย์

4.บริจาคอาหารสำหรับทารกหรือเด็กเล็กให้กับหน่วยบริการสาธารณสุขหรือบุคลากรด้านสาธารณสุข ยกเว้นการบริจาคเพื่อผู้ป่วยเฉพาะโรค หรือผู้มีความผิดปกติของร่างกาย และการบริจาคในกรณีจำเป็น

ขณะที่บทกำหนดโทษผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือผู้จำหน่ายอาหารสำหรับทารก หรือตัวแทน จะมีอัตราโทษปรับต่อพฤติกรรม ๆ ละ 1 แสน ไปจนถึง 3 แสนปรับ สำหรับโทษที่พบการโฆษณาชี้ชวนจะมีบทลงโทษที่หนัก คือ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ หรือปรับอีกวันละไม่เกิน 1 หมื่นบาทจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง

ส่วนการตรวจสอบการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ที่รัฐมนตรีมอบหมาย หากผู้ใดขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ให้ถือว่ามีความผิด ต้องได้รับโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง