เมื่อวานนี้ (13 ก.ค.2560) นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สั่งการให้นำเรื่องถนนยางพาราดินซีเมนต์ ไปศึกษาต่อในทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการทำถนน โดยถนนดินซีเมนต์ที่จะนำยางพาราไปใช้เป็นส่วนด้านล่างของชั้นถนนไม่ใช่ชั้นผิวถนน ทุกผิวถนนสามารถใช้ยางได้ โดยจะช่วยเพิ่มปริมาณการใช้ยางมากขึ้นถึงกิโลเมตรละ 12 ตัน จากเดิมที่เป็นใช้ยางพาราเพียงร้อยละ 5-8 เท่านั้น เบื้องต้น กรมชลประทานได้ทดสอบใช้ยางพาราในการทำถนนแล้ว โดยพบว่ามีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณกิโลเมตรละ 18 ตัน ซึ่งกรมชลประทานและกระทรวงกลาโหมได้แจ้งความประสงค์ที่จะดำเนินการรับมอบยางตั้งแต่วันที่ 13 กรกฎาคมนี้เป็นต้นไป เพื่อที่จะนำไปใช้ในดำเนินโครงการของแต่ละหน่วยงาน
สำหรับปีงบประมาณ 2560 จากนี้ไปจนถึงเดือนกันยายนมี 9 หน่วยงานราชการยื่นความจำนงจะใช้ยางพารา โดยขั้นตอนต่อไป กยท.จะประสานกับหน่วยงานเจ้าของงบประมาณ เพื่อเร่งดำเนินการภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ คาดว่างบประมาณจะมาจากงบปกติที่ตั้งไว้จากงบเหลือจ่ายและงบกลาง ทั้งหมดต้องทำให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ ส่วนโดยหน่วยงานที่ต้องของบกลางจะต้องทำเรื่องส่งให้สำนักงบประมาณภายในสัปดาห์นี้ เพื่อให้มั่นใจได้ว่า สามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จในปี 2561
ด้านนายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทานมีถนนอยู่ในความดูแลประมาณ 7,000 กิโลเมตร เป็นถนนลาดยาง 3,074 กิโลเมตร และได้ถ่ายโอนให้กรมทางหลวงชนบทท้องถิ่นไว้ประมาณ 4,000 กิโลเมตร โดยถนนลาดยาง หากชำรุดจะต้องซ่อมแซมโดยจะนำยางพาราในโครงการที่ กยท.ดำเนินการรวบรวมไว้ไปใช้ ส่วนอีกถนน คือถนนทางลูกรังประมาณ 1,800 กิโลเมตร กำลังทำการศึกษาวิจัยอยู่ที่ จ.อุบลราชธานี คาดว่าจะทราบผลการวิจัยเดือนตุลาคมนี้ โดยการเอาดินลูกรังที่ผสมปูนซีเมนต์และน้ำยางข้นบดอัดลงไป จะใช้น้ำยางพาราประมาณกิโลเมตรละ 18 ตัน เป็นการช่วยชาวสวนยาง โดยเบื้องต้นจะรับมอบยางจาก กยท.ประมาณ 100 ตัน