ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"กรมประมง" เตรียมคุมนำเข้าปลาสวยงามต่างถิ่น-หลังกระทบนิเวศ

สิ่งแวดล้อม
14 ก.ค. 60
16:15
7,081
Logo Thai PBS
"กรมประมง" เตรียมคุมนำเข้าปลาสวยงามต่างถิ่น-หลังกระทบนิเวศ
กรมประมง เตรียมประกาศควบคุมสัตว์น้ำเอเลียนสปีชร์ กลุ่มปลาสวยงาม 100 ชนิด กุ้งเครฟิช เป็นสัตว์ควบคุมภายใต้มาตรา 76 กฎหมายประมง หลังพบช่องโหว่กฎหมายนำเข้ามาเพาะและปรับปรุงพันธุ์ จนสร้างปัญหาต่อระบบนิเวศ

วันนี้(14 ก.ค.2560) นายสุทธิชัย ฤทธิธรรม ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด กรมประมง กล่าวว่า จากการสำรวจการแพร่การกระจายพันธุ์ของปลาหมอสีคางดำ เอเลียนสปีชีส์ ในพื้นที่ จ.สมุทรสงคราม และยังอยู่ระหว่างการสำรวจในแหล่งน้ำสาธารณะอื่นๆ ยอมรับว่าการประเมินความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมเป็นไปได้ยาก รวมถึงการกำจัดให้หมดจากแหล่งน้ำก็ยาก ระดับความรุนแรงของการระบาดหากเทียบกับการระบาดของปลาซักเกอร์ หอยเชอรี่ในช่วงหลายปีจนถึงตอนนี้ยังไม่สามารถจัดการได้ 

ปัญหาที่เกิดขึ้นยอมรับว่ามีช่องว่าง ในการควบคุมการนำเข้าปลาสวยงาม สัตว์น้ำต่างถิ่นที่ผู้ประกอบการและนักปรับปรุงพันธ์ุ สามารถนำเข้ามาได้ได้อย่างถูกกฎหมาย โดยขาดการควบคุมซึ่งกรมประมง เคยรวบรวมไว้ประมาณ 100 สายพันธ์ุ ครอบคลุมกลุ่มปลาหมอสี ปลาหมอบัตเตอร์ ปลาทอง ปลาปอมปาดัวร์  เรนโบว์ หอยชนิดต่างๆ ยังไม่รวมถึงสัตว์น้ำในบัญชีไซเตส ที่มักจะถูกแอบลักลอบนำเข้ามาขายและจำหน่าย

นายสุทธิชัย บอกว่า หลังจากเริ่มพบการระบาดของสัตว์น้ำต่างถิ่นหลายชนิด เช่น ปลาหมอสีคางดำ กลุ่มปลาหมอสีประมาณ 100 ชนิด กลุ่มปลากระเบนอะเมซอน กุ้งกร้ามกรามแดง หรือกุ้งเครฟิช ปลาเอลิเกเตอร์ กบอะเมซอน  ที่เริ่มมีรายงานเจอในแหล่งน้ำสาธารณะแล้ว กรมประมง อยู่ระหว่างเตรียมประกาศให้สัตว์ในบัญชีเหล่านี้ เป็นสัตว์ที่ต้องควบคุมการนำเข้า การเพาะเลี้ยง โดยใช้มาตรา 76 พระราชบัญญัติประมงปี 2558 ที่ระบุไว้ชัดเจนให้ออกกฎกระทรวงกำหนดชนิดหรือลักษณะของสัตว์น้ำ เพื่อกำกับดูแลการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ จะต้องป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค 

 

 

"ยอมรับว่า กฎหมายไม่สามารถย้อนหลังเอาผิดกับผู้ขออนุญาตนำสัตว์น้ำต่างถิ่น เข้ามาเพาะขยายพันธุ์ได้ ทั้งการเรียกค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อม หรือการกำจัด ซึ่งกรณีปลาหมอสี ยืนยันว่าการขออนุญาต ไม่ใช่ผู้ประกอบการรายใหญ่เพียงรายเดียวที่นำเข้าเมื่อเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา แต่นักเพาะเลี้ยงนำเข้ามาเพื่อปรับปรุงพันธุ์ โดยไม่ต้องผ่านการขออนุญาต เนื่องจากเป็นกลุ่มปลาสวยงาม ที่จะถูกตรวจเรื่องโรคสัตว์น้ำเท่านั้น ตรงนี้เป็นช่องโหว่ของกฎหมายที่กรมประมง ต้องควบคุมโดยเร็วที่สุด โดยการออกประกาศควบคุมปลาหมอสีทุกชนิด และสัตว์น้ำอื่นๆทีระบาดในแหล่งน้ำตอนนี้ "  

นายสุทธิชัย บอกอีกว่าอยากขอความร่วมมือจากนักเลี้ยงสัตว์น้ำสวยงาม หากไม่อยากเลี้ยงให้นำมาไว้ให้กับกรมประมง หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่านำไปปล่อยในแหล่งน้ำ เพราะจะเกิดอันตรายต่อระบบนิเวศจนควบคุมยาก

ทั้งนี้ มาตรา 76 ของพระราชบัญญัติกรมประมง ระบุว่า เพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแลการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ให้มีคุณภาพป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรืออันตรายต่อผู้บริโภค หรือกิจการของบุคคลอื่นให้ออกกฎกระทรวงกำหนดชนิดของสัตว์น้ำ ประเภทและขนาดรูปแบบของกิจการ ให้เป็นกิจการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ควบคุมได้  

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง