วันนี้(17 ก.ค.2560)นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. จัดประชุม เพื่อพิจารณาช่องทางการยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้วินิจฉัยร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรม นูญ หรือร่างกฎหมายลูกว่าด้วย กกต. ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยเฉพาะ 6 ประเด็นที่เคยส่งความเห็นแย้งและตั้งกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย เพื่อทบทวนร่างกฎหมายไปแล้ว
โดยมีรายงานว่า นายสมชัย ศรีสุทธิยากร หนึ่งใน กกต. จะเป็นผู้สรุป 4 แนวทางที่สามารถยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ให้ที่ประชุมร่วมกันพิจารณาแนวโน้มความเป็นไปได้ในการดำเนินการ และลงมติเห็นชอบร่วมกัน ในวันอังคารที่ 18 ก.ค.นี้ และจากการสอบถามข้อเท็จจริงนั้น จนถึงขณะนี้ นายสมชัย ยังคงปฏิเสธที่จะเปิดเผยในรายละเอียด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับการประชุมกกต. ในวันนี้ จะมีวาระการพิจารณาช่องทางการยื่นศาลรัฐธรรมนูญแล้ว กกต. จะได้ร่วมกันสรุปภารกิจที่จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ ก่อนสิ้นสุดหน้าที่ด้วยหลังร่างกฎหมายลูก ว่าด้วย กกต. เข้าสู่กระบวนการประกาศเป็นกฎหมาย แต่ภาร กิจทั้งหมดนั้น กกต. กำหนดกรอบที่จะดำเนินการถึงสิ้นเดือนธ.ค.ปีนี้เท่านั้น
ส่วนความคืบหน้า ในร่างกฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. ได้ส่งความเห็นแย้งเรื่องระบบคัดเลือกผู้สมัครลงรับเลือกตั้งเบื้องต้น หรือไพรมารีโหวตกลับไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. รวม 3 ประเด็นนั้น สนช. เตรียมประชุมตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย ในวันที่ 20 ก.ค.นี้
โดยนายอุดม รัฐอมฤต โฆษก กรธ. เปิดเผยว่า ระหว่าง สนช. กับ กรธ. ก็มีความเข้าใจตรงกันแล้ว เกี่ยวกับระบบไพรมารีโหวต ที่อาจมีปัญหาในทางปฏิบัติ ซึ่งต้องมีการแก้ไข ซึ่งคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายในสัดส่วนของ กรธ. 5 คน จะประกอบด้วย ประพันธ์ นัยโกวิท , นายภัทระ คำพิทักษ์ , นายนรชิต สิงหเสนี , นายธนาวัฒน์ สังข์ทอง , และนายอุดม รัฐอมฤต โดยไม่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. เข้าไปร่วมพิจารณาด้วย