เสียงปืนที่ดังมาจากทุกทิศทุกทาง ยังคงอยู่ในความทรงจำของครอบครัวสวนสน ชาวบ้านท่าด่าน ตำบลดอนรัก อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี หลังผู้ก่อเหตุได้ยิงและปล้นรถยนต์ของชาวบ้านเพื่อนำมาก่อเหตุกราดยิงใส่ฐานปฎิบัติทหาร ร้อย ร.2513 หน่วยเฉพาะกิจปัตตานี 24 และบ้านของชาวบ้านที่อยู่ใกล้กัน โดยเฉพาะบ้านของนางพิพิธ สวนสน ที่อยู่ติดกับฐานปฎิบัติการทหาร ทำให้รถยนต์ และภายในบ้านเต็มไปด้วยร่องรอยของกระสุน
เจ้าของบ้าน เล่าว่า สาเหตุที่เจ้าหน้าที่ไม่กล้ายิงตอบโต้ เพราะรอบบริเวณนี้มีบ้านของชาวบ้านหลายหลัง จึงเกรงว่าจะมีผู้ถูกลูกหลง อีกทั้งบริเวณนี้ส่วนใหญ่เป็นชุมชนของคนต่างความเชื่อ ทำให้ผู้ก่อเหตุเลือกเป็นเป้าหมายเหตุกราดยิงในอำเภอหนองจิก เป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อเนื่องกับคนต่างความเชื่อในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งคนกลุ่มนี้มุ่งหวังที่จะเกิดรอยร้าวขึ้นในพื้นที่
ความอ่อนไหวของสถานการณ์จึงกลายเป็นหัวข้อสำคัญ ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาหารือในเวทีสัมมนาอิสลามศึกษานานาชาติครั้งที่ 4 ที่วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยมีนักวิชาการด้านอิสลามศึกษา จากทั่วโลก 37 ประเทศเข้าร่วม
โดยที่ประชุมได้มุ่งเน้นนำเสนอในประเด็กหลักคิดของอิสลามสายกลาง ที่ปฎิเสธความรุนแรง พร้อมย้ำว่า สิ่งคุกคามสันติสุขโลกมิใช่อิสลาม แต่เป็นความรุนแรงที่เกิดจากการขาดการยอมรับ ซึ่งกันและกัน และเกิดจากการโฆษณาชวนเชื่อ ที่ไม่ได้มีพื้นฐานจากหลักการอิสลามที่ถูกต้อง
“มิติกลไกที่เราจะอยู่ร่วมกันมันถูกทำลาย แล้วมันถูกสร้างมายาคติอื่นๆ เข้ามาทดแทนว่าเราไม่สามารถอยู่ด้วยกันได้ ไม่สามารถคุยกันได้ เพราะฉะนั้นจึงกลายเป็นเผชิญหน้า โดยที่ไม่เห็นตัวตนของแต่ละคน แต่มีเสียง มีการเปิดเว็บไซต์ต่างๆ โจมตีกันไปกันมา ในท้ายที่สุดแล้วมันทำให้เกิดความลุ่มร้อนขึ้นมา” ผศ.อับดุลรอนิง สือแต นักวิชาการวิทยาลัยอิสลามศึกษา ม.อ.ปัตตานี ระบุ
ตรงกับความเห็นของ พระอธิการดุษฎี อังสุเมธางกูร ผู้นำศาสนาพุทธ ที่เข้าร่วมในการสัมมนาครั้งนี้ เห็นว่าพื้นฐานหลักการศาสนาทุกศาสนา ต้องการเห็นความอยู่ดีมีสุขและยอมรับในความแตกต่าง ซึ่งเหตุรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และความขัดแย้งทั่วโลกขณะนี้ เป็นเพียงแนวคิดสุดโต่งของคนบางกลุ่มที่ต้องการให้เกิดความแตกแยก ซึ่งจะเป็นบ่อเกิดของความล่มสลาย หากไม่ช่วยกันประสานรอยร้าว
“พุทธกับมุสลิมอยู่กันคนละฟากถนน แต่ช่วยเหลือกัน อันนี้เป็นมาช้านานแล้ว แต่ตอนหลังเรามีความแตกแยก เพราะว่ามีบางคนต้องการให้แตกแยก แล้วถ้าเราไม่ได้ศึกษาศาสนาให้ดี เราใช้อารมณ์ของเรามากเกินไป ก็ทำให้ไม่ได้คิดถึงผลร้ายและผลเสียที่ตามมา” พระอธิการดุษฎี อังสุเมธางกูร กล่าว
การสัมมนาอิสลามศึกษานานาชาติปีนี้ ให้ความสำคัญกับพลังแห่งการขับเคลื่อนในการพัฒนาและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขของคนในพื้นที่และทั่วโลก เพื่อให้นักวิชาการและนักการศาสนาจากทั่วโลก ได้นำเสนอผลงานวิจัย บทความ และหลักคิดเกี่ยวกับหลักการศาสนาอิสลามที่ถูกต้อง นำมาเผยแพร่ผ่านสถาบันการศึกษาและบุคคลทั่วไป ซึ่งจะเป็นเกราะป้องกันสังคมไม่ให้เกิดความแตกร้าว หรือ ใช้ความรุนแรง