องค์การเภสัชกรรมประสบความสำเร็จผลิตวัคซีนกันไข้หวัดใหญ่
องค์การเภสัชกรรมประสบความสำเร็จผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อเป็น โดยขึ้นทะเบียนกับ อย.แล้ว
นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม แถลงความสำเร็จของประเทศไทยในการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อเป็น และได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์การอาหารและยา (อย.) เป็นครั้งแรกของประเทศไทย โดยได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากประเทศรัสเซีย รวมทั้งได้รับเงินสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลกจำนวน 150 ล้านบาท โดยทดลองในอาสาสมัคร 324 คน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มเด็กเล็ก อายุตั้งแต่ 12-18 ปี กลุ่มผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18-49 ปี และกลุ่มผู้สูงอายุ 49 ปีขึ้นไป ซึ่งผลการทดลองพบว่ามีความปลอดภัย และไม่พบอาการข้างเคียงที่รุนแรง มีเพียงอาการไข้ต่ำๆ สำหรับการทดลองครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยศิลปากรในการอำนวยที่ผลิตและใช้เวลาทดสอบเพียงแค่ระยะที่ 2
ทั้งนี้ในอนาคตเตรียมศึกษาทดลองวัคซีนชนิดเชื้อตายเพิ่มเติม เพื่อนำมาผลิตในโรงงานผลิตวัคซีนของโรงงานองค์การเภสัชกรรมที่อำเภอทับกวาง จังหวัดสระบุรี และได้รับการสนับสนุนเทคโนโลยีจากบริษัทคาเคทุเกน ผู้ผลิตวัคซีนของญี่ปุ่นที่ได้มาตรฐานมากว่า 50 ปี คาดว่าจะสามารถผลิตได้ในอีก 4 ปีข้างหน้า ส่วนเรื่องการผลิตวัคซีนไข้หวัดนก H5N1 ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดลองที่ประเทศเนเธอร์แลนด์
สำหรับวัคซีนเชื้อเป็นนั้นเป็นวัคซีนที่ได้จากเชื้อที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่ถูกทำให้อ่อนกำลังลง จนไม่สามารถก่อให้เกิดโรคได้ วัคซีนที่เตรียมด้วยวิธีนี้จะยังมีเชื้ออยู่จำนวนเล็กน้อย เมื่อฉีดเข้าไปก็จะสามารถแบ่งตัวเพิ่มจำนวนในร่างกายโฮสต์ได้อีก ทำให้มีเซลล์ที่กระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันจำนวนมาก และเกิดการสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีกว่าวัคซีนเชื้อตาย และภูมิคุ้มกันจากวัคซีนเชื้อเป็นจะอยู่ในร่างกายได้สั้นกว่า ทำให้ต้องฉีดซ้ำบ่อย
ส่วนวัคซีนเชื้อตายเป็นวัคซีนที่ได้จากเชื้อที่ตายแล้ว แต่มีส่วนของแอนติเจนซึ่งเป็นโปรตีนเหลืออยู่ ทำให้สามารถกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันโรคได้เช่นกัน ดังนั้นวัคซีนชนิดนี้จะใช้เวลากระตุ้นภูมิคุ้มกันนานกว่า แต่จะอยู่ในร่างกายได้นานกว่าวัคซีนเชื้อเป็นและต้องมีการฉีดซ้ำเมื่อถึงระยะเวลาที่โปรตีนที่เป็นแอนติเจนเสื่อมสลายไป
และหากเปรียบเทียบความแตกต่างวัคซีนเชื้อเป็นและเชื้อตาย วัคซีนเชื้อเป็นจะใช้เครื่องพ่นเข้าทางจมูกโดยตรง สามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว และสามารถผลิตได้จำนวนมากๆ ในเวลาอันสั้นๆ ด้วยต้นทุนต่ำ แต่ผู้ได้รับอาจเกิดการแพ้วัคซีนได้ง่าย
ขณะที่วัคซีนเชื้อตายเข้าสู่ร่างกายโดยการฉีด และกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ช้าแต่อยู่ได้นาน ส่วนใหญ่ไม่ก่อให้เกิดการแพ้ แต่อาจเป็นฝืนได้เนื่องจากสิ่งที่ผสมมา