ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดภาพ "ป่าชายหาดสมบูรณ์สุดในคาบสมุทรไทย"

สิ่งแวดล้อม
27 ก.ค. 60
12:35
21,840
Logo Thai PBS
เปิดภาพ "ป่าชายหาดสมบูรณ์สุดในคาบสมุทรไทย"
นักวิชาการชีววิทยา ระบุป่าชายหาดอุทยานแห่งชาติเขาลําปี-หาดท้ายเหมือง จ.พังงา มีความสมบูรณ์ที่สุดในคาบสมุทรของไทย แนะประชาชนอย่าเข้าใจผิดว่าเป็นป่าเสื่อมโทรม หวั่นนำพันธุ์พืชนอกพื้นที่มาปลูกทำลายพันธุ์ไม้ดั้งเดิม

วันนี้ (26 ก.ค.2560) นายศักดิ์อนันต์ ปลาทอง อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ให้สัมภาษณ์ "ไทยพีบีเอสออนไลน์" ถึงความสมบูรณ์ของป่าชายหาดบริเวณช่วงกลาง ของพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาลําปี-หาดท้ายเหมือง จ.พังงา ว่า พื้นที่ดังกล่าวมีความสมบูรณ์ที่สุดในคาบสมุทรของไทย เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ของกรมอุทยานฯ อีกทั้งไม่มีการบุกรุกและออกเอกสารสิทธิ์ที่ดิน โดยลักษณะเป็นสันทรายชายฝั่งจากทะเลโบราณที่สะสมออกมาเรื่อยๆ แบ่งเป็นแนวชายหาดที่ติดกับทะเล มีพืชกลุ่มผักบุ้งทะเล ต้นไม้พุ่มเตี้ย ต้นไม้ขนาดใหญ่ เช่น พะยอม ถัดมาเป็นแนวละเมาะที่มีต้นไม้ขนาดไม่ใหญ่มาก แนวหลุมที่มองเห็นเป็นลักษณะสีน้ำตาล กึ่งพรุ มีน้ำขังและต้นเสม็ดขาว แนวดินที่ไม่มีธาตุไนโตรเจน เหมาะกับพืชที่สามารถหาอาหารได้ด้วยตัวเอง เช่น ต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิง ต้นกล้วยไม้ แนวสันทรายเป็นร่องและแอ่งน้ำ และแนวป่าชายเลน ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อยจากเหตุการณ์สึนามิ เมื่อปี 2547 อีกทั้งพันธุ์พืชสามารถฟื้นฟูได้ด้วยตัวเอง

 

 

นายศักดิ์อนันต์ กล่าวเพิ่มเติมว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เตรียมลงพื้นที่ศึกษาโครงสร้างสังคมพืชชายฝั่ง การกระจายพันธุ์ และพยายามชี้ให้เห็นว่า ป่าชายฝั่ง ไม่ใช่ป่าเสื่อมโทรม และมีความหลากหลายทางพันธุ์พืช เพื่อสร้างความเข้าใจแก่ประชาชน ป้องกันการนำพันธุ์ไม้อื่นนอกพื้นที่เข้ามาปลูก ซึ่งอาจทำลายพันธุ์ไม้ดั้งเดิม

"ความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายฝั่ง สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างพันธุ์ไม้ชนิดต่างๆ ต้นไม้ขนาดเล็กส่งต่อไนโตรเจนให้ต้นไม้ขนาดใหญ่ แม้จะไม่มีธาตุอาหารในดิน อย่ามองว่าป่าชายฝั่ง เป็นป่าเสื่อมโทรม เพราะไม่มีต้นไม้ใหญ่และดูแห้งแล้ง แต่ต้องรักษาพื้นที่นี้ไว้ด้วยช้ำ หลายคนเข้าใจว่าเสื่อมโทรมและต้องการเข้ามาปลูกป่า ซึ่งการเอาพันธุ์ไม้อื่นเข้ามาปลูกก็จะทำลายพันธุ์ไม้ดั้งเดิม ตัวอันตรายคือ สนทะเลที่สร้างไนโตรเจนได้เองและใบที่ร่วงหล่นจะทำลายพืชที่อยู่ด้านใต้ เช่น กล้วยไม้ กาฝาก" นายศักดิ์อนันต์ ระบุ

 

 

ทั้งนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สำรวจและจำแนกการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ป่าชายเลน ปี พ.ศ. 2552 พบพื้นที่ที่ยังคงสภาพป่าชายหาด 2,708 ไร่ ใน 7 จังหวัดชายฝั่งทะเล ได้แก่ จ.กระบี่ 997 ไร่ จ.ตรัง 641 ไร่ จ.ปัตตานี 421 ไร่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ 156 ไร่ จ.พังงา 70 ไร่ จ.สุราษฎร์ธานี 43 ไร่ และ จ.ระนอง 43ไร่

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง