ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กลุ่มพันธมิตรฯ เตรียมยื่น ป.ป.ช.พิจารณาอุทธรณ์คดีสลายการชุมนุม

การเมือง
7 ส.ค. 60
11:46
227
Logo Thai PBS
กลุ่มพันธมิตรฯ เตรียมยื่น ป.ป.ช.พิจารณาอุทธรณ์คดีสลายการชุมนุม
กลุ่มพันธมิตรฯ มอบหมายนายวีระ สมความคิด อดีตแกนนำพันธมิตรฯ เป็นตัวแทนยื่นเรื่องขอให้ ป.ป.ช.พิจารณาอุทธรณ์คดีสลายการชุมนุม โดยจะขอรอดูท่าทีของ ป.ป.ช.อีกครั้งว่าจะยื่นอุทธรณ์หรือไม่ เพื่อพิจารณาหาช่องทางต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรมอื่นต่อไป

วันนี้ (7 ส.ค.2560) การยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช.วันนี้ โดยมีนายวีระ สมความคิด อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เป็นตัวแทน หลังการหารือของอดีตแกนนำพันธมิตรฯ ขอให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณายื่นอุทธรณ์คดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 กรณีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษายกฟ้อง ซึ่งเชื่อว่า ป.ป.ช.จะพิจารณาดำเนินการได้ทันตามกรอบ 30 วัน ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ แต่หากครบกำหนดแล้ว ป.ป.ช.ยังไม่พิจารณาดำเนินการยื่นอุทธรณ์ในฐานะคู่ความโดยตรง ทางกลุ่มได้หารือไว้เบื้องต้นแล้วว่า จะดำเนินการตามขั้นตอนกระบวนการยุติธรรมอื่นต่อไป

นายวีระยังเห็นว่า ขณะนี้ประเทศชาติยังมีปัญหาที่ภาคประชาชนต้องเข้ามาทำหน้าที่ จึงเตรียมหาคนรุ่นใหม่มาทำหน้าที่เป็นแกนนำพันธมิตรฯ รุ่นที่ 3 ส่วนคุณสมบัติจะเป็นอย่างไร ยังไม่มีการหารือกัน ต้องดูไปตามสถานการณ์ แต่ต้องการคนที่มีอุดมการณ์เดียวกัน เพื่อร่วมต่อสู้ไปกับประชาชน

ก่อนหน้านี้ นายสุริยะใส กตะศิลา อดีตแกนนำพันธมิตรฯ ระบุว่า 1 ในข้อมูลที่จะไปยื่นต่อ ป.ป.ช.วันนี้ คือรายละเอียดของศาลปกครองกลางที่มีคำสั่งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักนายกรัฐมนตรี ชำระค่าเสียหายกว่า 32 ล้านบาทให้ผู้เสียหาย พร้อมชี้ชัดว่าเจ้าหน้าที่ดำเนินการเกินกว่าเหตุ รวมถึงรายงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อพฤติกรรมของรัฐบาล และความเห็นต่อการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ พร้อมยืนยันว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้ ไม่มีนัยทางการเมืองใดๆ

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า คำพิพากษาคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ออกมาย่อมมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและเห็นต่าง แต่เมื่อรัฐธรรมนูญเปิดช่องให้อุทธรณ์ได้ ป.ป.ช.ก็ควรใช้สิทธิเพื่อให้คำพิพากษาถึงที่สุด และหมดข้อสงสัย ซึ่งจะทำให้ทุกฝ่ายยอมรับในคำพิพากษาตามกระบวนการยุติธรรม และเกิดภาพลักษณ์ที่ดีต่อ ป.ป.ช. แต่หาก ป.ป.ช.ไม่ใช้สิทธิอุทธรณ์ เชื่อว่าสังคมจะเกิดคำถามถึงการทำหน้าที่ของ ป.ป.ช. ซึ่งไม่ส่งผลดีทั้งต่อ ป.ป.ช.และสังคมโดยรวม

ข้อสังเกตการพิจารณายื่นอุทธรณ์ของ ป.ป.ช.เกิดขึ้น เพราะก่อนที่ศาลฎีกาฯ จะมีคำพิพากษายกฟ้องคดีนี้ ป.ป.ช.เคยมีแนวทางให้ฝ่ายกฎหมายพิจารณาถอนฟ้องคดี ไม่นับรวมกรณีที่ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช.เคยดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำงานใกล้ชิดกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ชาย พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ 1 ในจำเลยที่มีคำพิพากษายกฟ้อง แต่นายสุริยะใส กตศิลา ก็ระบุว่า ไม่ขอคาดการณ์ล่วงหน้า เพราะยังอยู่ในกรอบเวลาที่ ป.ป.ช.จะยื่นอุทธรณ์ได้

ล่าสุด ป.ป.ช.อยู่ระหว่างการเตรียมพิจารณาคำพิพากษาของศาลฎีกาฯอย่างละเอียด โดยรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเปิดให้ยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ภายใน 30 วัน ทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลยต่างจากรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่กำหนดให้เฉพาะจำเลยที่มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ แต่หลักเกณฑ์การพิจารณาขณะที่ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยังไม่มีผลบังคับใช้ อาจต้องยึดตามระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์การอุทธรณ์คดีอาญานักการเมือง พ.ศ.2551 ซึ่งกำหนดว่าพยานหลักฐานใหม่ที่จะใช้อุทธรณ์ คือพยานหลักฐานที่ยังไม่เคยปรากฏอยู่ในสำนวนคดี และเป็นพยานหลักฐานที่สำคัญ ซึ่งผู้ต้องคำพิพากษาไม่รู้หรือไม่มีเหตุอันควรรู้ว่าพยานหลักฐานดังกล่าวมีอยู่ และจะต้องนำมาแสดงเพื่อประโยชน์ของตัวเอง ขณะที่ร่างกฎหมายลูกฉบับใหม่ไม่ได้กำหนดเรื่องนี้ไว้

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง