วันนี้ (7 ส.ค.2560) นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ชี้แจงถึงกรณีที่ยังมีนายจ้างหรือผู้ประกอบการมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับขั้นตอนหรือแนวปฏิบัติในการทำงานของแรงงานต่างด้าว ซึ่งวันนี้ เป็นวันสุดท้ายที่ศูนย์รับแจ้งการทำงานของคนต่างด้าว ที่ทำงานกับนายจ้างก่อนวันที่ 23 มิ.ย.นี้ แต่ไม่มีเอกสารแสดงตน หรือเอกสารการอนุญาตทำงานใดๆให้มารับแจ้งที่ศูนย์ ซึ่งไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ
ต่อมาในขั้นตอนที่ 2 นายจ้างพาลูกจ้างไปตรวจสอบคัดกรองความสัมพันธ์นายจ้าง-ลูกจ้าง และ 3. ถ้าพบเป็นนายจ้าง-ลูกจ้างจริงเจ้าหน้าที่ออกหนังสือรับรองเพื่อไปตรวจสัญชาติ ซึ่งการตรวจสัญชาติ มีการประสานงานกับประเทศต้นทาง เพื่อให้การตรวจสัญชาติเป็นไปอย่างรวดเร็ว
สำหรับกรณีการเปลี่ยนนายจ้างก็ไม่ยุ่งยาก แรงงานสามารถเปลี่ยนนายจ้างได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่อันเป็นที่ตั้งของสถานที่ทำงานของแรงงานในปัจจุบัน ค่าใช้จ่าย จำนวน 1,000 บาท และไม่ต้องตรวจสุขภาพ แรงงานไม่ต้องกลับไปหานายจ้างเดิมแต่อย่างใด และขอให้นายจ้างหรือผู้ใดที่จ้างแรงงานต่างด้าวโดยไม่มีเอกสารใดๆ รีบมาแจ้งการทำงานของแรงงานต่างด้าวภายในวันนี้เพราะไม่มีการขยายเวลาอีกแล้ว ซึ่งทุกศูนย์รับแจ้งฯ พร้อมให้บริการจนถึงคนสุดท้าย
เบื้องต้นสรุปยอดรวมการมาแจ้งการทำงานของคนต่างด้าวตั้งแต่วันที่ 24 ก.ค.-7 ส.ค. จนถึงเวลา 16.30 น.ของวันนี้มีนายจ้างมาแจ้งฯ 195,996 ราย โดยแจ้งขอให้งานแรงงานต่างด้าวรวม 694,629 ราย แบ่งเป็นสัญชาติเมียนมา 402,542 ราย กัมพูชา 203,732 ราย และลาว 88,355 ราย ทั้งนี้จะสรุปเบ็ดเสร็จได้ในวันที่ 8 ส.ค. แต่คาดว่าตัวเลขน่าจะอยู่ที่ 7.5 แสนคน
โดยประเภทกิจการที่มีการยื่นคำขอ 5 อันดับคือ กิจการก่อสร้าง 149,768 คน เกษตรและปศุสัตว์ 149,226 คน จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม 61,240 คน การให้บริการต่างๆ 49,758 คน กิจการต่อเนื่องการเกษตร 41,866 คน และจังหวัดที่มีการจ้างมากที่สุด 5 อันดับคือ กรุงเทพมหานคร 142,251 คน ชลบุรี 40,421 คน 3สมุทรปราการ 38,006 คน ปทุมธานี 32,270 คน เชียงใหม่ 32,234 คน