วันนี้ (16 ส.ค.2560) นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน คาดการณ์ระดับเก็บกักน้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา ได้แก่ ภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน และป่าสักชลสิทธิ์ ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 จะมีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 11,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อใช้บริหารจัดการในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งมากกว่าปีที่ผ่านมา ที่มีปริมาณเพียง 9,700 ล้านลูกบาศก์เมตร
ทั้งนี้ จะจัดสรรน้ำเพื่ออุปโภคและบริโภค 1,100 ล้านลูกบาศก์เมตร /ดูแลระบบนิเวศ 1,400 ล้านลูกบาศก์เมตร /การทำเกษตรต่อเนื่อง 700 ล้านลูกบาศก์เมตร /เก็บสำรองไว้ใช้ในต้นฤดูฝน 3,700 ล้านลูกบาศก์เมตร /ส่วนที่เหลือ 4,100 ล้านลูกบาศก์เมตร จะใช้จัดสรรเรื่องอื่นๆ ในฤดูแล้ง
อย่างไรก็ตาม ถ้าในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม มีพายุพัดผ่านไทยอีกระลอก ทั้ง 4 เขื่อนน่าจะเก็บน้ำเพิ่มได้อีก 3,000 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมทั้งสิ้น 13,000 ล้านลูกบาศก์เมตร
นายทองเปลว กล่าวถึงการปลูกข้าวนาปีว่า ขึ้นอยู่กับการกำหนดขอคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว(นบข.) ว่าทั้งปีควรจะปลูกเท่าไหร่ ส่วนการปลูกข้าวนาปรัง ต้องดูปริมาณความต้องการของตลาด เพราะแม้ปีนี้จะมีน้ำมาก แต่ก็ต้องทำตามแผนการเพาะปลูกในเขตชลประทาน โดยกรมชลประทานจะดำเนินตามนโยบาย ที่กรมส่งเสริมการเกษตร กรมการข้าวกำหนดให้
ส่วนภาพรวมสถานการณ์น้ำในเขื่อนต่างๆ โดยเฉพาะเขื่อนขนาดใหญ่ทั้งหมด 12 แห่ง ที่มีปริมาณน้ำเกินเกณฑ์สูงสุดในช่วงที่ผ่านมา ปัจจุบันเหลือเพียง 9 แห่ง
ขณะที่เขื่อนขนาดกลางที่เคยมีปริมาณน้ำเต็มร้อยละ100 จำนวน 125 แห่ง ปัจจุบันเหลือเพียง 45 แห่งเท่านั้น ส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ