ผลจากการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ไม่เพียงแต่การฟ้องร้องดำเนินคดีอาญากับนักการเมืองที่เกี่ยวข้อง ผ่านศาลฏีกาฯ เท่านั้น แต่ยังมีอีก 2 แนวทาง สำหรับการเดินหน้าเอาผิดคือ คดีทางการเมืองและคดีทางปกครอง ที่หมายถึงการเรียกคืนความเสียหายของรัฐ รวมแล้ว 3 แนวทาง
สำหรับการรับไม้ต่อของรัฐบาล-คสช. ในการขับเคลื่อนเอาผิดนักการเมือง ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการรับจำนำข้าว 1. คือการเอาผิดตามคดีทางการเมือง ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. โดยต้นปี 2558 มีมติตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าวเป็นเหตุให้รัฐเสียหาย ด้วยมติ 190 ต่อ 18 เสียง ในขณะเดียวกันก็ลงมติตัดสิทธิ์ทางการเมือง นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ฐานทุจริตระบายข้าวแบบจีทูจี ด้วยมติ 180 ต่อ 6 เสียง
พร้อมกันนั้นก็มีมติ 158 ต่อ 25 เสียง ตัดสิทธิ์ทางการเมือง นายภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรี ช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ไปพร้อมกันด้วย และด้วยข้อกล่าวหาเดียวกันนี้ รัฐบาล-คสช. ก็เดินหน้าแนวทางที่ 2 คือ การเรียกคืนความเสียหาย จากผลของการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวคืนรัฐ รวม 500,000 ล้านบาท ผ่านคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 56/2559 และ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ปี 2539 โดยอาศัยอำนาจตาม มาตรา 57 ออกคำสั่งทางปกครอง เพื่อให้ชำระความเสียหาย หากไม่ชำระตามกำหนด หลังออกหนังสือเตือนให้ใช้มาตรการบังคับทางปกครอง ยึดหรืออายัดทรัพย์สิน ขายทอดตลาด เพื่อให้ครบถ้วน ซึ่งขณะนี้ขับเคลื่อนมาถึงกระบวนการอายัดและยึดทรัพย์แล้ว โดยนักการเมืองที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ต่างยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อขอทุเลาการบังคับคดี
อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าสัปดาห์หน้าจะรู้ผลและสุดท้าย คือ การเดินหน้าฟ้องร้องคดีอาญาด้วยข้อกล่าวหาเดียวกันนั้น ผ่านศาลฏีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งโทษอาญานี้คดีของอดีตนายกรัฐมนตรี ยึดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ต้องระวางโทษสูงสุด คือจำคุก 10 ปี แต่คดีของรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องฐานทุจริต ตามพ.ร.บ.ฮั้วประมูล โทษสูงสุดต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต