วันนี้ (7 ก.ย.2560) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประชาชนยังคงนำรถยนต์ติดก๊าซเข้ามาใช้บริการในสถานีจำหน่ายก๊าซ LPG อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าราคาจะปรับขึ้น 36 สตางค์ต่อลิตร อยู่ที่ 13.04 บาทต่อลิตร จากเดิมลิตรละ 12.68 บาทต่อลิตร
แสวงจันทร์ เอื้อเฟื้อ คนขับรถแท๊กซี่ บอกว่า ตนเองต้องจ่ายเงินเพิ่มเป็น 250 บาท จากปกติ 200 บาท เพื่อให้ได้ปริมาณก๊าซเท่าเดิมที่ 19 ลิตร ซึ่งเพียงพอที่จะวิ่งรับผู้โดยสารได้ทั้งวัน แม้ยังเป็นราคาที่รับได้ แต่หากราคาสูงขึ้นถึง 14-15 บาทต่อลิตร อาจต้องให้ภาครัฐช่วยเหลือบางส่วน
ขณะที่อมรกานต์ อานุภาควัณย์ ผู้ใช้ก๊าซ บอกว่า ตนเองมักจะเติมก๊าซ LPG เพื่อใช้เดินทางออกต่างจังหวัด เนื่องจากช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย แต่หากราคาทยอยปรับขึ้นจนใกล้เคียงกับราคาน้ำมัน ก็จะหันมาใช้น้ำมันแทน
แม้การลอยตัวราคาก๊าซทั้งระบบจะส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพให้สูงขึ้น แต่ผู้ใช้ในภาคขนส่ง ยืนยันว่าไม่ได้คัดค้านนโยบาย เพราะเข้าใจดีว่ารัฐบาลต้องการสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง เช่นเดียวกับราคาน้ำมัน
สำหรับสาเหตุที่ทำให้ราคาก๊าซหุ้งต้มในตลาดโลกมีความผันผวนมาจากปัจจัยต่างประเทศเป็นหลักและความต้องการใช้ก๊าซหุ้งต้มทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นในไตรมาส 4 ปีนี้ ประมาณ 3,200,000 ตัน เพราะเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว ส่งผลให้ราคาสูงขึ้นเฉลี่ยเดือนละ 50 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันจนถึงสิ้นปีนี้
กระทรวงพลังงาน ยืนยันว่า หากราคาก๊าซปรับสูงขึ้นเกินกว่า 50 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน จะใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาดูแลราคา เพื่อไม่ให้เป็นภาระของประชาชน แต่อีกมุมหนึ่งผู้บริโภคจะต้องเตรียมรับกับราคาก๊าซที่จะเพิ่มสูงขึ้นด้วย