ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ห้ามโฆษณา "นมผงทารก" จับตาเซลล์ประกบขายแม่มือใหม่

สังคม
8 ก.ย. 60
11:54
4,794
Logo Thai PBS
ห้ามโฆษณา  "นมผงทารก" จับตาเซลล์ประกบขายแม่มือใหม่
พระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสําหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการแล้ว รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผย สังคมยังเห็นโฆษณานมผงสูตร 3 ในสื่อต่างๆ เหมือนเดิม เพิ่มเติมคือการห้ามทำการตลาด ลด แลก แจก แถม

วันนี้ 8 กันยายน 2560 พระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหาร สําหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ.2560 มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการเป็นวันแรก กฎหมายฉบับนี้เน้นเรื่องการห้ามโฆษณาอาหารสําหรับทารก ซึ่งหมายถึงนมหรือผลิตภัณฑ์อื่นที่ใช้เป็นอาหารที่มีส่วนประกอบของสารอาหารที่เหมาะสมและเพียงพอที่จะใช้เลี้ยงทารกตามกฎหมายว่าด้วยอาหาร หรือที่เราเข้าใจกันคือ นมผง

มาตรการสำคัญคือ ห้ามส่งเสริมการตลาดอาหารสําหรับทารก หรืออาหารสําหรับเด็กเล็ก ด้วยการลดแลกแจกแถม รวมทั้งห้ามติดต่อหญิงตั้งครรภ์หรือหญิงที่มีบุตร ผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม

หลายคนจึงอาจสงสัยว่าตั้งแต่วันนี้ เราจะไม่ได้เห็นโฆษณานมผงทางสื่อต่างๆ แล้วใช่หรือไม่ รวมถึงการจัดโปรโมชั่นต่างๆ ภายในห้างสรรพสินค้าก็ไม่สามารถทำได้ใช่หรือไม่ ไทยพีบีเอสออนไลน์จึงขอไขข้อข้องใจดังกล่าวกับ นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายฉบับนี้

 

 

นพ.ธงชัย กล่าวว่า ตั้งแต่วันนี้ เราจะยังเห็นโฆษณานมผงตามสื่อต่างๆ เหมือนเดิม เพราะที่โฆษณาอยู่เป็นนมผงสูตร 3 ที่สามารถโฆษณาได้ แต่กฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รวมถึงพระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสําหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ.2560 กำหนดห้ามโฆษณานมสูตร 1 สำหรับทารกอายุ 0 - 12 เดือน และนมสูตร 2 สำหรับเด็กอายุ 6 เดือน - 3 ปี

โดยระบุในมาตรา 14 ห้ามผู้ใดโฆษณาอาหารสําหรับทารกห้ามผู้ใดโฆษณาอาหารสําหรับเด็กเล็กโดยใช้ข้อความเกี่ยวกับทารกหรือเด็กเล็กในสื่อโฆษณา ที่มีลักษณะเชื่อมโยงหรือทําให้เข้าใจได้ว่าเป็นอาหารสําหรับทารกหรือเหมาะสมสําหรับใช้เลี้ยงทารก

การโฆษณานมสูตร 3 ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร แต่ในการโฆษณาก็ต้องระวังการเชื่อมโยงประเด็นหากโยงไปถึงอาหารทารกก็ถือว่ามีความผิด ซึ่งขณะนี้สิ่งที่เราดำเนินการร่วมกับ อย.พบว่าบางบริษัทโฆษณาด้วยข้อความที่คลุมเครือ ไม่บอกว่าเป็นอาหารทารกหรืออาหารเด็กเล็ก ทำให้คนดูเข้าใจว่านมผงชนิดนั้นสามารถใช้ได้ทั้งทารกและเด็กเล็กแบบนี้ทำไม่ได้

ขณะเดียวกัน บริษัทนมผงจะต้องทำการเปลี่ยนฉลากบนผลิตภัณฑ์ให้แตกต่างกัน เนื่องจากปัจจุบันบริษัทนมผงทำฉลากคล้ายคลึงกันทั้ง 3 สูตร เช่น ใช้สีกล่องสีเดียวกัน ใช้โลโก้แบบเดียวกัน ส่งผลให้ผู้ซื้อผลิตภัณฑ์สับสนและซื้อผิดประเภท

เป็นกลยุทธ์ด้านการตลาดของผู้ประกอบการ ที่กฎหมายอนุญาตให้โฆษณานมผงสูตร 3 ได้ แต่สูตร 1 และ 2 ทำไม่ได้ ผู้ประกอบการจึงทำโฆษณาสูตร 3 และทำฉลากให้เหมือนกันทั้ง 3 สูตร ก็เหมือนกับได้ทำโฆษณาทั้ง 3 สูตรในเวลาเดียว

ซึ่งมาตรา 15 กำหนดไว้ว่า ผู้ผลิต ผู้นําเข้า หรือผู้จําหน่ายอาหารสําหรับทารกหรืออาหารสําหรับเด็กเล็กหรือตัวแทนต้องดําเนินการให้ฉลากอาหารสําหรับทารกและฉลากอาหารสําหรับเด็กเล็กแตกต่างกันอย่างชัดเจน และสามารถมองเห็นหรือแยกแยะได้โดยง่าย ทั้งนี้กฎหมายให้เวลาผู้ประกอบการเปลี่ยนแปลงฉลากระยะเวลา 1 ปี ดังนั้น กันยายน ปี 2561 จะเห็นฉลากของนมผงมีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน  

 

 

ยุติ "ลด-แลก-แจก-แถม" จับตาเซลล์ รพ.เอกชน 

สำหรับสิ่งที่จะมีการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่วันนี้ เป็นต้นไปก็คือ ผู้ประกอบการนมผงจะไม่สามารถทำการส่งเสริมการตลาดได้แล้ว มาตรา 18 กำหนดว่า ห้ามแจกหรือให้คูปอง ส่วนลด รางวัล ของขวัญ ห้ามแจกนมผงสูตร 1 และ 2 และห้ามติดต่อหญิงตั้งครรภ์ ทั้งทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อส่งเสริม สนับสนุน หรือ แนะนําให้ใช้อาหารสําหรับทารกหรืออาหารสําหรับเด็กเล็ก

นพ.ธงชัย กล่าวว่า โปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม จะไม่สามารถทำได้กับนมผงสูตร 1 และสูตร 2 แต่สูตร 3 ยังสามารถจัดโปรโมชั่นได้เหมือนเดิม ขณะเดียวกันการให้นมผงตัวอย่างกับคุณแม่หลังคลอด ที่พบได้ในโรงพยาบาลเอกชนทุกแห่งก็ไม่สามารถทำได้แล้ว

บริษัทนมผงจะเอานมผงไปฝากให้โรงพยาบาลเอกชน แจกให้กับแม่หลังคลอดทุกเดือนทุกบริษัทจะเวียนเอานมไปให้

หลังจากนี้รัฐมนตรีจะแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่เพิ่มเติมทุกจังหวัด เพื่อให้มีอำนาจในการตรวจสอบและปรับหากพบการกระทำผิดกฎหมาย ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000 – 300,000 บาท แล้วแต่กรณี

เราหวังว่าบริษัทนมผงจะทำตามกฎหมาย เราไม่ได้หวังจะไปจับหรอก เราหวังเพียงแค่ให้เขาปฏิบัติตามกฎหมายอย่างถูกต้อง แต่อย่างไรก็ตามในตอนต้นคงต้องมีกระบวนการเหล่านี้เพื่อเป็นการปราม

นพ.ธงชัย ทิ้งท้ายว่าหลังจากกฎหมายฉบับนี้บังคับใช้ กรมอนามัยจะทำการศึกษาวิจัยในระยะ 6 เดือนและ 1 ปี เพื่อทดสอบความเข้าใจเกี่ยวกับการโฆษณาของคุณแม่ว่าผิด-ถูกอย่างไร และการโฆษณาในสื่อต่างๆ จะมีการปรับตัวหรือมีการพลิกแพลงอย่างไร แล้วมีผลกระทบกับการส่งเสริมให้เด็กไทยกินนมแม่หรือไม่

 

 

เรื่อง: จุฑาภรณ์ กัณหา ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง