วันนี้ (11 ก.ย.2560) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดประชุมเชิงวิชาการว่าด้วยการใช้เงินแบบดิจิทัล (Digital Financial Inclusion) ซึ่งมีตัวแทนจากธนาคารแห่งประเทศไทย สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) และสถาบันการเงินเข้าร่วม
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า เทคโนโลยีดิจิทัลทำให้เกิดการบริการใหม่ๆ ซึ่งการส่งเสริมภาคธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบทำให้ กสทช.เชิญหลายฝ่ายที่มีความเชี่ยวชาญด้านการเงินในต่างประเทศมาให้ข้อมูล เพื่อเป็นแนวทางการดูแลธุรกรรมและภาคบริการการเงินออนไลน์ รวมถึงกำหนดแนวทางร่วมกันระหว่าง กสทช.ของกลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศ เนื่องจากเทรนในปัจจุบันและอนาคต การหลอมรวมกันด้านธุรกรรมการเงินไม่สามารถแยกออกจากกันได้
สำหรับประเทศไทยตั้งแต่เดือน ต.ค. 2560 เป็นต้นไป กสทช.จะยุติลงทะเบียนในระบบ 2 แชะเดิม และเริ่มระบบการลงทะเบียนแบบอัตลักษณ์ ด้วยการพิมลายนิ้วมือสำหรับผู้ที่ซื้อซิมโทรศัพท์ใหม่ โดยจะใช้เครื่องพิมลายนิ้วมือ ประมาณ 20,000 เครื่อง กระจายไปตามศูนย์ให้บริการต่างๆ ของเครือข่ายโทรศัพท์ และเพื่อสนับสนุนการทำธุรกรรมการบัญชีธนาคารผ่านทางโทรศัพท์ หรือ การใช้ระบบพร้อมเพย์ อินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง โดยปัจจุบันมีเลขหมายโทรศัพท์ ประมาณ 120 ล้านเลขหมาย โดยในจำนวนนี้ ร้อยละ 60 เป็นแบบสมาร์ทโฟนที่มีความพร้อมในการทำธุรกรรมผ่านโทรศัพท์
ที่ผ่านมา 2 เดือน ที่ กสทช.ทดลองนำร่องเอาเครื่องพิมลายนิ้วมือและสแกนใบหน้า ติดตั้งในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 25 เครื่อง พบว่าขณะนี้ มีคนเริ่มลงทะเบียนในหลักหมื่นคนแล้ว คาดว่าจะติดตั้งเพิ่มอีกให้ได้ประมาณ 300-400 เครื่อง
"หลายประเทศในกลุ่มอาเซียนขอมาดูงานที่ประเทศไทย เพราะไทยเป็นผู้นำที่เริ่มทำระบบนี้ และเรามีประเด็นที่เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ และความมั่นคงด้านเศรษฐกิจร่วมด้วย กสทช.ยืนยันว่าการลงทะเบียนซิมด้วยระบบนี้ ไม่ใช่ต้องการตรวจสอบการใช้งานของประชาชน แต่เราต้องการวางระบบป้องกันเรื่องการนำซิมไปใช้งานผิดประเภท รวมถึงการลงทะเบียนเพื่อให้เจ้าของเครื่องตรวจสอบได้ว่า มีผู้อื่นนำซิมของเราไปใช้งานสวมรอยหรือไม่" เลขาธิการ กสทช. กล่าว
น.ส.สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายระบบการชำระเงิน และเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ปัจจุบัน มีบัญชีผู้ใช้บริการพร้อมเพย์ กว่า 33 ล้านบัญชี มีมูลค่าการเงินผ่านระบบพร้อมเพย์กว่า 122 ล้านบาท และมีแนวโน้มจะมีผู้ใช้งานมากขึ้น
"แม้ปีนี้เป็นปีแรก ที่ได้เห็นสาขาของธนาคารปิดตัวลง แต่สิ่งที่จะเห็นชัดเจนขึ้น คือ ธนาคารแต่ละแห่ง เปลี่ยนไปเน้นให้บริการผ่านออนไลน์และการเงินออนไลน์มากขึ้น ปี 2559 พบว่าการโอนเงินผ่านโมบายแบงก์กิ้ง มีเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 44 สูงกว่าปี 2558 ส่วนหนึ่งมาจากการเติบโตของสมาร์ทโฟนที่ใช้งานง่ายขึ้น" น.ส.สิริธิดา ระบุ
นอกจากนี้ รัฐบาล และธปท. ได้เล็งเห็นช่องทางในการเข้าถึงบริการด้านการเงินที่ง่ายขึ้น และนำไปสู่การผลักดันแผนยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ที่ชัดเจนมากขึ้น คือการสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้คนเข้าถึงอินเตอร์เทอร์ได้อย่างมีความเชื่อมั่นใจมากขึ้น ทั้งภาคการบริโภค บริการ โครงการที่เกี่ยวกับสวัสดิการสังคมของรัฐ ระบบภาษี และอีเพย์เม้นท์ในตลาดทุน ธปท.คำนึงถึงความเสี่ยงต่างๆ ที่เป็นความท้าทายต่อการขับเคลื่อนธุรกรรมการเงินผ่านออนไลน์ แต่จะต้องหาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่จะป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาด้านความปลอดภัย