คำสั่งมาตรา 44 ระงับ นโบายเหมืองแร่ทองคำทั่วประเทศ ส่งผลให้เหมืองแร่ทองคำ จ.พิจิตร ต้องหยุดประกอบกิจการตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2560 และขณะนี้มีกระแสข่าวว่า บริษัทต่างชาติที่ลงทุนเหมืองแร่ในประเทศไทย จะเรียกร้องรัฐบาลไทยชดใช้กว่า 30,000 ล้านบาท ทำให้กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ประเมินว่า รัฐบาลไทยอาจเสียเปรียบ เมื่อเข้าสู่ขั้นตอนระหว่างประเทศ ในกระบวนการอนุญาโตตุลาการ ซึ่งมีตัวแทนจากรัฐ เอกชนและคนกลางที่ทั้ง 2 ฝ่ายยอมรับ เจรจากันผ่านระบบ ไอ เอส ดี เอส ซึ่งเป็นกลไกที่ใช้ระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน ภายใต้กรอบการค้าเสรี ไทย-ออสเตรเลีย
กระบวนการอนุญาโตตุลาการ จะทำให้ผู้แพ้ไม่มีสิทธิ์อุทธรณ์ ซึ่งแตกต่างจากกระบวนการยุติธรรมไทยโดยทั่วไปและขณะนี้มีคดีชาวบ้านฟ้องร้องเหมืองแร่ทองคำ อยู่ในชั้นพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดอยู่แล้ว 2 คดี
การเจรจาก่อนถึงขั้นตอนอนุญาโตตุลาการ ขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งมีปลัดกระทรวงเป็นประธานคณะเจรจา อยู่ระหว่างการเจรจาโดยระบุว่า อยู่ในชั้นความลับ ที่ไม่สามารถเปิดเผยได้ ซึ่งสร้างความไม่สบายใจให้กลุ่มชาวบ้านรอบเมืองทองที่เป็นฝ่ายเรียกร้องให้รัฐบาลตรวจสอบผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมาตลอดในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
คำสั่งปิดเหมืองแร่ทองคำชาตรี ที่ จ.พิจิตร ด้วยมาตรา 44 มานานกว่าครึ่งปี ท่ามกลางกระแสข่าวว่าเอกชน อาจใช้ช่องทางอนุญาโตตุลาการ เรียกร้องรัฐบาลไทยจ่ายชดเชยกว่า 30,000 ล้านบาท เพื่อชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น ผ่านกติกากรอบการค้าเสรี