ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ชวนติดแฮชแท็ก #IvoryFree งดซื้อของขวัญผลิตภัณฑ์งาช้าง

สิ่งแวดล้อม
14 ก.ย. 60
17:31
1,255
Logo Thai PBS
ชวนติดแฮชแท็ก #IvoryFree งดซื้อของขวัญผลิตภัณฑ์งาช้าง
องค์กรไวล์ดเอด ร่วมมือกับยูเอสเอด ไวล์ดไลฟ สหรัฐอเมริกา เปิดตัวโครงการรณรงค์ #ไม่เอางาไม่ฆ่าช้าง I am #IvoryFree เชิญชวนคนไทย สร้างรูปคู่กับช้างทาง www.ivoryfreethai.org แชร์ผ่านโซเชียล เเสดงจุดยืนไม่สนับสนุนการซื้อ การใช้ และให้ของขวัญจากผลิตภัณฑ์งาช้าง

เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2560 องค์กรไวล์ดเอด (WildAid) ร่วมมือกับยูเอสเอด ไวล์ดไลฟ เอเชีย ภายใต้องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา เปิดตัวโครงการรณรงค์ #ไม่เอางาไม่ฆ่าช้าง I am #IvoryFree (ไอ แอม ไอวอรี่ฟรี) เชิญชวนคนไทยร่วมกันสร้างรูปคู่กับช้างที่เว็บไซต์ www.ivoryfreethai.org แชร์ผ่านโซเชียลมีเดียทุกประเภท พร้อมกับติดแฮชแท็ก #ไม่เอางาไม่ฆ่าช้าง และ #IvoryFree โดยสามารถเลือกข้อความรณรงค์ที่ชอบได้ เพื่อเเสดงจุดยืนไม่สนับสนุนการซื้อ การใช้ และการให้ผลิตภัณฑ์งาช้างเป็นของขวัญอีกต่อไป

นายจอห์น เบเกอร์ กรรมการผู้จัดการองค์กรไวล์ดเอด บอกว่า จากปัญหาช้างมากถึง 33,000 ตัว ถูกฆ่าเพื่อเอางาในแอฟริกาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์งาช้างในเอเชีย ซึ่งไทยเป็นทั้งปลายทาง และทางผ่านของงาช้างผิดกฎหมายเหล่านั้น ขณะนี้รัฐบาลไทยได้กำหนดมาตรการเพื่อแก้ปัญหาการค้างาช้างผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อปี พ.ศ.2558 รัฐบาลออกพระราชบัญญัติงาช้าง เพื่อควบคุมตลาดค้างาช้างถูกกฎหมายที่มาจากช้างบ้านของไทย ที่เป็นช้างเอเชียเท่านั้น และแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 กำหนดให้ช้างแอฟริกันเป็น 1 ในสัตว์คุ้มครองของไทย มีผลให้ห้ามซื้อขายหรือครอบครองงาช้างแอฟริกัน

 

 

ขายผลิตภัณฑ์ "งาช้าง"ตลาดออนไลน์ยอดพุ่ง 


นายจอห์น เบเกอร์ กล่าวว่า แม้อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือไซเตส รวมถึงองค์กรอนุรักษ์ระดับนานาชาติ จะชื่นชมความพยายามแก้ปัญหาการค้างาช้างผิดกฎหมายของไทย ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่หลายฝ่ายยังกังวลว่า แนวทางแก้ปัญหาของไทยอาจยังไม่เพียงพอ กรณีของฮ่องกงแสดงให้เห็นแล้วว่า ตลาดการค้างาช้างถูกกฎหมาย เป็นเพียงฉากบังหน้าให้กับการค้างาผิดกฎหมายเท่านั้น แม้รัฐบาลฮ่องกงมั่นใจว่ามีกลไกต่างๆ ที่สามารถควบคุมการค้าได้

“ผลสำรวจเมื่อปี 2559 ของเครือข่ายเฝ้าระวังการค้าสัตว์ป่าและพืชป่า หรือทราฟฟิค พบว่าผลิตภัณฑ์งาช้างที่วางจำหน่ายแบบเปิดเผยตามร้านค้าในกทม.มีจำนวนลดลงจาก 7,421 ชิ้นในปี 2557 เหลือเพียง 283 ชิ้นเมื่อปีที่แล้ว หรือลดลงมากถึงร้อยละ 96 แต่การสำรวจตลาดออนไลน์ เมื่อในปี 2559 ระหว่างเดือนมิ.ย.-ก.ค.นี้ กลับพบผลิตภัณฑ์งาช้างอย่างน้อย 2,550ชิ้น ถูกประกาศ ขายบนเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมอย่างผิดกฎหมาย” นายจอห์น  ระบุ

โดยการลดความต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์งาช้าง ถือเป็นหัวใจสำคัญขององค์กรไวล์ดเอดในความพยายามยุติการฆ่าช้างเอางา เพื่อหวังว่าการสร้าง ความตระหนักให้สังคมรับรู้ถึงความโหดร้ายที่อยู่เบื้องหลังผลิตภัณฑ์งาช้าง จะทำให้สังคมหันหลังให้กับ การบริโภคผลิตภัณฑ์งาช้างมากยิ่งขึ้น และนำไปสู่การยุติการฆ่าช้างเอางาในที่สุด เพราะหยุดซื้อ คือ หยุดฆ่า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง