ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“สมาคมนมผง” ขานรับกฎหมายคุมโฆษณา-การตลาด หวั่น 1 ปี เปลี่ยนฉลากไม่ทัน

สังคม
15 ก.ย. 60
17:53
1,275
Logo Thai PBS
 “สมาคมนมผง” ขานรับกฎหมายคุมโฆษณา-การตลาด หวั่น 1 ปี เปลี่ยนฉลากไม่ทัน
6 บริษัทผู้ผลิตและนำเข้านมผง ยอมรับระเบียบ พ.ร.บ.นมผง ห้ามโฆษณา – ห้ามทำการตลาด – เปลี่ยนฉลากให้ชัดเจน แต่ห่วง 1 ปี เปลี่ยนฉลากไม่ทัน พร้อมขอมีส่วนร่วมกระบวนการออกกฎหมายลูก

วันนี้ (15 ก.ย. 2560) พญ.กิติมา ยุทธวงศ์ ผู้อำนวยการบริหารสมาคมผู้ผลิตอาหารทารกและเด็กเล็ก ตัวแทนของภาคอุตสาหกรรมอาหารทารกและเด็กเล็กในประเทศไทย ให้ข้อมูลถึงท่าทีของสมาชิก 6 บริษัท ได้แก่ บริษัท แอ็บบอต ลาบอแรตอรีส จำกัด บริษัท ดูเม็กซ์ จำกัด บริษัท มี้ด จอร์นสัน นิวทริชัน (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด แผนกธุรกิจไวเอท นิวทริชั่น และบริษัท แปซิฟิค เฮลธ์แคร์ (ไทยแลนด์) จำกัด เกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติหลังจากพระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสําหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 8 กันยายนที่ผ่านมา

 

 

พญ.กิติมา กล่าวว่า สมาชิกทั้งหมดเห็นพ้องกันว่าจะปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ทั้งการห้ามโฆษณาและส่งเสริมการตลาดนมสูตร 1 และสูตร 2 ซึ่งเป็นนมผงสำหรับทารก ที่ถูกควบคุมโดยกฎหมายอาหาร พ.ศ.2522 ซึ่งสอดคล้องกับระเบียบปฏิบัติด้านการตลาดอาหารทดแทนนมแม่ พ.ศ.2559 ที่ทางสมาคมฯ จัดทำขึ้นเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติอยู่แล้ว

สมาชิกเห็นพ้องกันว่าต้องทำตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด อะไรที่จะเป็นความเสี่ยง ที่จะทำให้ผิดกฎหมาย เขาจะเลิกหมด ไม่ลดแลก แจก แถม และจะไม่มีการให้ตัวอย่างนมผงแก่แพทย์เพื่อนำไปให้ผู้ป่วยทดลอง ลักษณะนี้จะไม่มี

อย่างไรก็ตาม ในการโฆษณานมสูตร 3 ทางสมาคมฯ จะระมัดระวังเนื้อหาไม่ให้มีความเชื่อมโยงหรือทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นนมสำหรับทารก

พญ.กิติมา กล่าวว่า ข้อกังวลในขณะนี้คือเรื่องการปรับเปลี่ยนฉลากผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับทารกอาหารสำหรับเด็กเล็ก และอาหารอื่น ให้แตกต่างอย่างชัดเจนภายในระยะเวลา 1 ปีนับจากกฎหมายมีผลบังคับใช้ในวันที่ 8 กันยายน 2560 โดยเกรงว่าอาจจะไม่ทันตามระยะเวลาที่กำหนด เนื่องจากขั้นตอนปฏิบัติในการปรับเปลี่ยนฉลากมีหลายขั้นตอน ทั้งการประสานงานภายในองค์กรและภาครัฐ ซึ่งแต่ละส่วนต้องใช้เวลาพอสมควร

ทั้งนี้ ตามมาตรฐานสากลการเปลี่ยนฉลากใหม่จะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 17 เดือน โดยแบ่งช่วงเวลาต่างๆ ดังนี้

- ออกแบบฉลากใหม่ ใช้เวลา 1 เดือนครึ่ง
- ขออนุมัติภายในบริษัท ใช้เวลา 1 เดือนครึ่ง
- ยื่นขออนุญาตจาก อย.รอการอนุมัติ ใช้เวลา 4 เดือน
- จัดทำบรรจุภัณฑ์ให้มีรูปแบบฉลากตามที่ อย.อนุญาต ใช้เวลา 4 เดือน
- ผลิตและตรวจสอบสินค้า ใช้เวลา 2 เดือน
- ขนส่งสินค้าจากผู้ผลิตในต่างประเทศมายังประเทศไทย ใช้เวลา 3 เดือน
- กระจายสินค้าสู่ตลาด ใช้เวลา 1 เดือน

 

ทั้งนี้ ในระหว่างรอความชัดเจนในหลักเกณฑ์และข้อปฏิบัติต่างๆ ภายใต้พระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสําหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. 2560 ซึ่งมีหลายเรื่องที่ยังไม่ชัดเจน เช่น คำนิยามอาหารเด็กเล็ก หรือรูปแบบฉลากอย่างไรที่ต้องการให้ปรับเปลี่ยน

พญ.กิติมา เสนอว่า ในกระบวนการพิจารณาร่างและออกกฎหมายลูก ควรมีตัวแทนจากภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดและจัดทำนโยบายด้วย รวมถึงควรเปิดโอกาสให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จำหน่าย และภาคประชาสังคม เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นและเพื่อให้กฎหมายนำมาปฏิบัติได้

 

 

จุฑาภรณ์ กัณหา ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ห้ามโฆษณา "นมผงทารก" จับตาเซลล์ประกบขายแม่มือใหม่

พ.ร.บ.นมผง บังคับใช้ “8 ก.ย.60” ห้ามโฆษณา-ห้ามแจกตัวอย่าง-ห้ามให้ของขวัญ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง