ขยายพื้นที่เพาะปลูกปาล์มน้ำมันในที่รกร้าง 24,000 ไร่
นายเอก ยังอภัย ณ สงขลา นายอำเภอหนองจิก และผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการอำเภอหนองจิก กล่าวว่า รัฐบาลเลือกพื้นที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เป็น 1 ในเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” โดยพัฒนาเป็นเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร เนื่องจากลักษณะเป็นพื้นที่ราบลุ่มปลายน้ำ เหมาะแก่การทำอาชีพการเกษตร อีกทั้งเศรษฐกิจในพื้นที่ส่วนใหญ่มาจากผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะการทำนา สวนมะพร้าว ยางพาราและปาล์มน้ำมัน รวมทั้งมีทรัพยากรทางทะเลที่อุดมสมบูรณ์สามารถประกอบอาชีพด้านการประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์ชายฝั่งได้
เบื้องต้นได้รับงบประมาณ 154,707,000 บาท สำหรับโครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพการแปรรูปสินค้าเกษตรอุตสาหกรรมและการขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน แบ่งเป็น 1.การพัฒนาศักยภาพกลุ่มชุมชนประมงพื้นบ้านบ้านตันหยงเปาว์ 2.เพิ่มประสิทธิภาพการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารทะเล วิสาหกิจชุมชนปลาแห้งท่ายาลอ 3.ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพการผลิตข้าวบ้านท่าด่าน และ 4.กิจกรรมส่งเสริมและขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน 2,800 ไร่ พร้อมออกมาตรการด้านสิทธิประโยชน์การลงทุน กองทุนส่งเสริมธุรกิจรุ่นใหม่ของแต่ละอำเภอ ส่งเสริมการขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันรองรับกำลังการผลิตของโรงงานสกัดปาล์มในพื้นที่ รวมทั้งพืชเศรษฐกิจสำคัญ เช่น ไม้ผล มะพร้าว ยางพารา ข้าว รองรับอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารในอนาคต ขยายพื้นที่เพาะปลูกในที่ที่รกร้าง 24,000 ไร่ หรือร้อยละ 16 ของพื้นที่ทั้งหมด เพื่อพัฒนาพื้นที่เพาะปลูกปาล์มน้ำมัน ส่งจำหน่ายผู้ประกอบการในพื้นที่ที่มีความต้องการการเพาะปลูก 350,000 ตัน หรือ 90,000 ไร่ คาดว่าจะสร้างอาชีพให้เกษตรกร 6,000 คน ส่วนปศุสัตว์ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคในพื้นที่และมีการนำเข้าสินค้า จึงเตรียมสร้างตลาดกลางปศุสัตว์จังหวัดปัตตานี ฟาร์มแพะครบวงจร มีโรงเชือดที่ถูกต้องตามหลักฮาลาล พร้อมประกอบอาหาร เช่น มัสมั่น ข้าวหมกแพะ นอกจากนี้ ยังปรับปรุงท่าเทียบเรือปัตตานี ถนนเลี่ยงเมืองปัตตานี เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งวัตถุดิบและเชื่อมโยงการกระจายสินค้าไปสู่นอกพื้นที่และภูมิภาคอาเซียน
หนองจิกตั้งเป้าสร้างอาชีพ-ลดยากจน พบตกเกณฑ์ จปฐ. 862 ครัวเรือน
นายอำเภอหนองจิก กล่าวอีกว่าปัจจุบันประชาชนมีความเหลื่อมล้ำของช่องว่างทางรายได้สูง โดยเฉพาะพื้นที่ชายฝั่งทะเล ซึ่งข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) สำนักงานพัฒนาชุมชน พ.ศ. 2559 ที่จัดเก็บตัวเลขครัวเรือนที่ตกเกณฑ์รายได้ 30,000 บาทต่อคนต่อปี พบว่าชาวหนองจิกตกเกณฑ์ถึง 862 ครัวเรือน มากที่สุดใน จ.ปัตตานี นำไปสู่นโยบายในการสนับสนุนอาชีพและสร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน
หากโอกาสจากรัฐยังไม่ดี การชักชวนชักจูงให้ต่อต้านรัฐก็ทำได้ง่าย เมืองต้นแบบไม่ใช่การนำโรงงานอุตสาหกรรมเป็นคำตอบ แต่ต้องเพิ่มความหลากหลายโดยไม่เปลี่ยนวิถีชีวิตเกษตรกร
ณัฐศศิ มณีโชติ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ปาล์มพัฒนาชายแดนใต้
ผู้ประกอบการขยายกำลังผลิต รองรับปาล์มล็อตใหญ่ในพื้นที่ จชต.
น.ส.ณัฐศศิ มณีโชติ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ปาล์มพัฒนาชายแดนใต้ จำกัด กล่าวว่า เดิมเกษตรกรในพื้นที่ จ.ปัตตานี ไม่ค่อยให้ความสนใจปลูกปาล์ม เนื่องจากในอดีตมีโรงงานแปรรูปเพียงแห่งเดียวที่ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นของรัฐ เกษตรกรในพื้นที่ก็ถามว่าพ่อของตนเองว่า หากปลูกปาล์มแล้วจะเอาไปขายที่ไหน จึงเกิดแรงบันดาลใจในการศึกษาข้อมูลและสร้างโรงงานปาล์มน้ำมัน เริ่มต้นด้วยการนำผลผลิตมาจากนอกพื้นที่ ต่อมาเกษตรกรในพื้นที่เริ่มปลูกปาล์มและส่งให้โรงงาน แต่ยังมีปริมาณเพียงร้อยละ 30 เท่านั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการขยายโรงงาน โดยลงทุนแล้วกว่า 200 ล้านบาท ตั้งเป้ารองรับผลผลิตในพื้นที่ให้ได้ร้อยละ 70 ซึ่งปัจจุบันกำลังการผลิตของโรงงานอยู่ที่ 45 ตันทะลายต่อชั่วโมง สามารถผลิตได้เฉลี่ย 900 กว่าตันต่อวัน โดยปี 2559 มีมูลค่าการรับซื้ออยู่ที่ 900 กว่าล้านบาท
จักรี เจ๊ะสอเหาะ กำนัน ต.ดอนรัก อ.หนองจิก
มุ่งเกษตรอินทรีย์ เพิ่มมูลค่าสินค้า-สร้างรายได้ยั่งยืน
นายจักรี เจ๊ะสอเหาะ กำนัน ต.ดอนรัก อ.หนองจิก กล่าวถึงการดำเนินงานของกลุ่มส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ว่า เดิมเป็นพื้นที่รกร้าง 4 ไร่ของกรมชลประทาน ซึ่งตนเองคิดว่าการปลูกผักน่าจะเกิดประโยชน์และสร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ว่างงาน ต่อมาได้รับงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนตำบลดอนรัก เพื่อซื้ออุปกรณ์ปลูกผักและเครื่องสูบน้ำ จนกระทั่งมีโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน งบประมาณ 2,500,000 บาท ก็นำมาจ่ายค่าแรงให้กับชาวบ้านในพื้นที่ และเป็นค่าเป็นวัสดุอุปกรณ์การบริหารงาน ขณะนี้มีร้านจำหน่ายผักหน้าฟาร์ม สร้างรายได้ 1,000 บาทต่อวัน แต่ยังไม่เพียงพอกับค่าแรง จึงเตรียมจัดอบรมให้ชาวบ้านปลูกผักอินทรีย์ ปลอดสารพิษ ภายในบ้านพักของตนเองและนำมาส่งขายที่ร้านค้า ขณะที่อนาคตเตรียมพัฒนาเป็นเกษตรเชิงท่องเที่ยว อาจมีการทำร้านกาแฟ หรือกิจกรรมปั่นเรือและตลาดน้ำ เพื่อให้เกิดความยั่งยืน
เราพยายามทุกอย่างให้เป็นไปตามรอยเท้าพ่อ ทำให้ยั่งยืน พร้อมขยายเครือข่ายเพื่อให้เกิดประโยชน์กับชาวบ้านมากที่สุด บางคนยังไม่เข้าใจว่าหากงบโครงการหมดจะไปทำอะไรต่อ ก็แนะนำให้ปลูกผักใส่ถุงที่บ้านแล้วเก็บมาขาย
มูหามะสุกรี มะสะนิง นายกสมาคมชาวประมงพื้นที่ จ.ปัตตานี
กุเลาเค็มตันหยงเปาว์ สร้างโอกาสชาวบ้าน-เพิ่มรายได้เท่าตัว
นายมูหามะสุกรี มะสะนิง นายกสมาคมชาวประมงบ้าน จ.ปัตตานี ประธานวิสาหกิจชุมชนโอรังปันตัย ที่บ้านตันหยงเปาว์ ต.ท่ากำชำ อ.หนองจิก เล่าว่า จ.ปัตตานี มีชายฝั่งทะเลยาว 116 กิโลเมตร ติดชายฝั่ง 6 อำเภอ 52 หมู่บ้าน แต่ละแห่งจะมีนิเวศแตกต่างกัน เช่น อ.ไม้แก่น อ.ปะนาเระ อ.สายบุรี เป็นนิเวศน้ำลึก ส่วน อ.เมือง อ.หนองจิก เป็นนิเวศน้ำตื้น ส่งผลต่อความหลากหลายของทรัพยากร จนเมื่อปี 2548 มีการรวมตัวของชาวบ้านเพื่อจดทะเบียนองค์กรนิติบุคคล “สมาคมชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดปัตตานี” เพื่อดำเนินกิจกรรมอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่ง เช่น จัดทำซั้งปะการังเทียมแบบพื้นบ้าน ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำและป้องปรามการทำประมงผิดกฎหมาย ต่อมาตั้งเป็น “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนโอรังปันตัย” หรือแปลว่าคนทะเล เพื่อจำหน่ายอาหารทะเลสดและอาหารทะเลแปรรูป สร้างรายได้ปีละ 3,000,000 บาท เช่น ปลากุเลาเค็ม ปลาอินทรีเค็ม กะปิ และข้าวเกรียบปลา สร้างรายได้ให้ชาวบ้านเพิ่มขึ้น ร้อยละ 20-30 ทั้งนี้ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนโอรังปันตัย จะรับซื้อปลากุเลาสดในราคากิโลกรัมละ 250 บาท ซึ่งปลาสด 1 ตัวจะมีน้ำหนัก 4 กิโลกรัม เมื่อแปรรูปเป็นปลากุเลาเค็ม เหลือน้ำหนัก 1.4 กิโลกรัม ขายในราคา 1,400 บาท
รุซยุ มะสะนิง ชาวประมงพื้นบ้าน
นายรุซยุ มะสะนิง อายุ 44 ปี ชาวประมงพื้นบ้าน บอกว่า เมื่อก่อนตนเองมีรายได้เลี้ยงดูภรรยาและลูกอีก 8 คน จากการออกทะเลและอาชีพเสริมเดือนละ 6,000 บาท หลังจากตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนก็สร้างรายได้เพิ่มเป็นเดือนละหมื่นกว่าบาท อีกทั้งสามารถดึงภรรยาและลูกมาเข้าร่วมทำงานด้วย ขณะที่ชาวบ้านก็ไม่ต้องไปทำงานในต่างจังหวัด หรือมาเลเซีย โดยมีรายได้ประมาณ 150-400 บาทต่อวัน
สำหรับผลิตภัณฑ์เด่นที่ได้รับความนิยมจากลูกค้า คือ กะโป๊ะ และปลากุเลาเค็ม ซึ่งเมื่อก่อนผู้ประกอบการที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส จะรับซื้อปลาสดจาก จ.ปัตตานี ไปทำปลากุเลาเค็ม แต่ขณะนี้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนโอรังปันตัยสามารถแปรรูปเองได้และมีรสชาติอร่อย เคล็ดลับอยู่ที่การนวดและการหมักปลา
ก่อนหน้านี้ผมทำประมงพื้นบ้าน ออกทะเล แม่บ้านก็ไม่ได้ทำอะไร พอมีการรวมกลุ่มก็ขายปลาได้ราคาดีกว่าท้องตลาด ดึงแม่บ้านและลูกมาทำงานได้ด้วย นโยบายเมืองเกษตรเป็นโอกาสของชาวบ้าน พวกเราดีใจ เพราะมีวัตถุดิบจำนวนมาก แต่ถูกกดราคา ก่อนหน้านี้ต้องขายในตลาดได้ราคาต่ำ