ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“รั้วไฟฟ้า” มัจจุราชเงียบ 3 ปีช้างป่าสังเวยชีวิต 9 ตัว

สิ่งแวดล้อม
19 ก.ย. 60
16:48
1,747
Logo Thai PBS
“รั้วไฟฟ้า” มัจจุราชเงียบ 3 ปีช้างป่าสังเวยชีวิต 9  ตัว
สำรวจพบ "รั้วไฟฟ้า"คร่าชีวิตช้างป่า 3 ปีตาย 9 ตัว เฉพาะ 4 เดือนระหว่างมิ.ย.-ก.ย.นี้มีช้างถูกไฟฟ้าช็อตตาย 5 ตัว โดยเฉพาะคดีเศร้าช้างป่าละอู จ.ประจวบคีรีขันธ์ ตายจากรั้วไฟฟ้านอนเรียงกัน 3 ตัวปี 2558 นักวิชาการ ชี้ช้างแค่ปรับตัว สร้างรั้วขูดคูกั้นปัญหาไม่จบ

2 วันติดที่มีข่าวเศร้าเกี่ยวกับ "ช้างป่า"สัตว์ขนาดใหญ่ที่คนไทยรู้จักกันดี ภาพอันน่าสะเทือนใจถูกเผยแพร่ออกมาโดยกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช ที่รายงานว่าช้างอายุ 30 ปี และเป็นตัวผู้ตายจากการถูกไฟฟ้าช็อต 

ดร.มัทนา ศรีกระจ่าง ผู้เชี่ยวชาญด้านช้าง กล่าวว่า กรณีช้างป่าถูกไฟช็อตตาย 2 ตัวในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จ.กาญจนบุรี และเขตพื้นที่อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี ถือเป็นเรื่องน่าตกใจ หากตรวจสอบย้อนหลังในช่วงหลายเดือนของปี 2560 มีช้างป่าที่ออกหากินนอกพื้นที่ถูกรั้วไฟฟ้าที่เกษตรกร นำมาติดตั้งเพื่อป้องกันพืชผลการเกษตรตายหลายตัว และกรณีที่เคยเป็นข่าวครึกโครมที่เขต อ.ห้วยสัตว์ใหญ่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ช้างป่า 3 ตัวนอนเรียงตาย เพราะถูกไฟดูด ซึ่งยอม รับว่าแนวโน้มความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างมีความรุนแรงมากขึ้น

เราพบว่าในพื้นที่อนุรักษ์ที่เป็นบ้านของช้าง 69 แห่งมีจุดที่ช้างออกมานอกพื้นที่ 21 จุด พื้นที่เช่น ป่ารอยต่อภาคตะวันออก ทั้งพื้นที่จันทบุรี ระยอง เกษตกรทำรั้วไฟฟ้าเพื่อป้องกันช้างเข้าไปทำลายผลผลิตทางการเกษตร บางรายใช้ไฟฟ้าบ้าน 220 โวลต์ปล่อยกระแสไฟฟ้า ซึ่งถือว่าผิดกฎหมายและเจตนาฆ่าและทำร้ายช้างไม่ใช่แค่เจ็บหรือสะดุ้ง ตกใจเท่านั้น

 

ดร.มัทนา บอกอีกว่า ขณะที่โครงการของรัฐในการขุดคูก้นน้ำ ที่ลงทุนในหลายจุด และใช้งบราว 1 ล้านบาทต่อกิโลเมตร ก็ไม่ประสบความสำเร็จ  ปัจจุบันเพราะช้างเองมีการปรับตัวกับพฤติกรรมที่คนนำมาใช้ และที่สุดก็หาทางออกนอกพื้นที่ เพราะแหล่งน้ำ แหล่งอาหารมีไม่เพียงพอ ดังนั้นมองว่าการแก้ปัญหาระ หว่างคนกับช้างด้วย 2 รูป แบบนี้อาจใช้ไม่ได้ผล จนตอนนี้เริ่มเปลี่ยนมาทำรั้วกึ่งถาวร และนับวันจะทำให้ช้างตายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ปัญหาไม่จบ

ยืนยันว่าพฤติกรรมช้างป่าของไทย ไม่ได้เปลี่ยน ไม่ได้ก้าวร้าว หรือดุร้าย แต่ช้างป่ามีการเรียนรู้ และมีการปรับตัว เพื่อความอยู่รอด เพราะหน้าแล้งป่าอนุรักษ์ที่ช้างอยู่ ไม่มีแหล่งน้ำ ไม่มีอาหารสำหรับช้าง เมื่อออกมาหาช้างนอก เจอแหล่งอาหารที่ดีกว่าจากที่เกษตรกรปลูกไว้ก็ติดใจ นอกจากนี้อยากตั้งคำถามว่า ในหลายคดีที่ช้างป่าถูกไฟช็อตตาย ผลในทางคดีเป็นอย่างไรบ้าง สามารถเอาผิด หรือลงโทษสูงสุดได้มากน้อยแค่ไหน

 

ด้านนายไพฑูรย์ อินทรบุตร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จ.กาญจนบุรี บอกว่า วันที่เข้าไปพื้นที่ จุดเกิดเหตุ เจอช้างป่าตัวผู้อายุไม่เกิน 30 ปี สภาพนอนตะแคงทับสายไฟฟ้า มีลักษณะเหมือนถูกไฟช็อตตาย อยู่ใกล้กับรั้วไฟฟ้าติดกับไร่ข้าวโพดของชาวบ้าน ที่ติดตั้งรั้วไฟฟ้าไว้ เพื่อป้องกันช้างป่าเข้ามาทำลายพืชผลทางการเกษตร

เขาบอกว่า เจ้าหน้าที่ตรวจสอบรอบๆ พบว่าเจ้าของไร่ข้าวโพด ได้ตั้งเสาไม้ขึงสายไฟล้อมรอบไร่ เพื่อกันช้างป่า และคาดว่าเมื่อเจ้าสีดอ เดินเข้ามาบริเวณดังกล่าว จึงถูกไฟฟ้าช็อตล้มตายคาที่ โดยสัตว แพทย์ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) เข้ามาทำการตรวจสอบผ่าพิสูจน์ซากเพื่อตรวจพิสูจน์สาเหตุการตาย พร้อมเก็บเนื้อเยื่อในอวัยวะสำคัญในเชิงนิติวิทยาศาสตร์ เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้เข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสภ.ลาดหญ้า เพื่อหาตัวผู้กระทำผิด ฐานความผิดมาตรา 16 และ 47 ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 มาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

 

สถิติ 3 ปีช้างถูกไฟช็อตตาย 9 ตัว

จากการสำรวจของทีมข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ พบว่าในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมามีเหตุสลดที่เกี่ยวกับช้างป่าที่ออกมาหากินนอกพื้นที่อนุรักษ์ และถูกไฟฟ้าช็อตตายรวม 5 ตัวตัว ดังนี้

30 มิ.ย.2560 ช้างป่าตัวผู้ อายุ 3-4 ปี จ.ตราด ถูกไฟฟ้าช็อตตาย
11 ก.ค.2560 ช้างอายุ 7 ปีถูกไฟฟ้าช็อตตายริมถนน จ.นครนายก
18 ก.ค.2560 ช้างป่าชื่อด้วน อายุ 20 ปี ตายแถวไร่อ่อน คลองตะเกรา อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา ถูกไฟฟ้าช็อตตาย

17 ก.ย.2560 ช้างป่าตัวผู้อายุ 30 ปี ตายที่.อแก่งหางแมว จ.จันทบุรี ถูกไฟฟ้าช็อตตาย
18 ก.ย.2560 ช้างป่าเพศผู้ อายุประมาณ 25 - 30 ปี นอนตายทับสายไฟฟ้า ไร่ข้าวโพด จ.กาญจนบุรี ถูกไฟฟ้าช็อตตาย

และหากย้อนคดีที่สะเทือนใจมากที่สุด คือกรณี 15 ก.ค.2558 ช้างป่าละอู นอนตายเรียงกัน 3 ตัว ม.1 บ้านเฉลิมเกียรติพัฒนา ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ถูกไฟฟ้าช็อตตาย ส่วน 3 พ.ย.2558 ช้างสีดอ อายุประมาณ 15-20 ปี อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี ถูกไฟฟ้าช็อตตาย 

โดยวันที่ 20-21 ก.ย.นี้ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะลงพื้นที่ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่จ.จันทบุรี เพื่อแก้ปัญหาความจขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า และตรวจความคืบหน้าโครงการขุดคูกั้นช้างและรั้วผึ้ง ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น

วันนี้ความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง เริ่มเห็นแนวโน้มปะทุขึ้นรอบใหม่ ท่ามกลางคำถามถึงจุดสิ้นสุดของปัญหาให้คนกับช้างอยู่ร่วมกันได้

จันทร์จิรา พงษ์ราย ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง