ชาวเมียนมาหลายร้อยคนรวมตัวกันที่บริเวณหน้าศาลาว่าการนครย่างกุ้ง เพื่อชมนางออง ซาน ซูจี แถลงเกี่ยวกับวิกฤตการณ์และความรุนแรงที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ ซึ่งถูกมองว่าเป็นการแถลงครั้งสำคัญที่สุดในฐานะนักการเมือง โดยผู้ชุมนุมถือรูปและป้ายข้อความสนับสนุนให้กำลังใจนางซูจี
ขณะที่นักการทูตที่ประจำการอยู่ในเมียนมา ซึ่งได้เข้าฟังการแถลงในครั้งนี้ต่างมีความเห็นไปในทิศทางบวก โดยมองในขั้นแรกว่าถ้อยแถลงของนางซูจี มีความชัดเจนว่าต้องการให้ทุกคนร่วมมือกันสร้างสันติภาพและความปรองดองในประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นการส่งสาส์นที่ดีต่อประชาคมโลก รวมทั้งเชื่อว่ารัฐบาลเมียนมาพร้อมที่จะร่วมมือและรับฟังข้อกังวลของนานาประเทศ ซึ่งก็ต้องติดตามความเคลื่อนไหวอื่นๆที่จะตามมา
ด้านชาวโรฮิงญาที่อยู่ในค่ายผู้อพยพในบังกลาเทศ มองว่า ถ้อยแถลงของนางซูจีที่บอกกับชาวเมียนมาและชาวโลกล้วนแต่เป็นเท็จอย่างสิ้นเชิง ไม่เช่นนั้นก็ต้องยอมให้สื่อเข้าไปดูชะตากรรมชาวโรฮิงญาในพื้นที่ได้ โดยก่อนหน้าที่นางซูจีจะเข้ามามีอำนาจ ชาวโรฮิงญาอยู่กันอย่างสงบสุข แต่เมื่อมีอำนาจในรัฐบาลแล้ว การทรมานชาวโรฮิงญาก็ได้เริ่มต้นขึ้น
ขณะที่แอมเนสตี อินเตอร์เนชั่นแนล ออกมาโจมตีว่า นางซูจีและรัฐบาลเมียนมาหลีกเลี่ยงและทำเป็นมองไม่เห็นปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้น รวมทั้งไม่มีการประณามกองทัพเมียนมา ซึ่งเป็นผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำทารุณกรรมและฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา
นอกจากนี้ยังได้วิจารณ์คำเชิญของนางซูจีที่ยอมให้นักสังเกตการณ์ลงพื้นที่รัฐยะไข่ด้วยตัวเอง แต่ตัวรัฐบาลเมียนมาเองกลับกีดกันคณะกรรมการค้นหาความจริงขององค์การสหประชาชาติที่ขอเข้าไปตรวจสอบข้อกล่าวหาความรุนแรงในรัฐยะไข่
ขณะที่นายฟิล โรเบิร์ตสัน จากฮิวแมน ไรท์ส วอทช์ มองว่า นางซูจีพยายามที่จะเรียกความน่าเชื่อถือจากประชาคมโลก พูดในสิ่งที่น่าฟัง พูดเรื่องสิทธิมนุษยชน พูดเรื่องแนวปฏิบัติของกองทัพ รวมทั้งยินดีต้อนรับทุกคนให้กลับประเทศ แต่เมื่อวิเคราะห์แล้วจะพบว่าคงจะทำให้สิ่งที่ว่ามานี้เกิดผลสำเร็จได้น้อยมาก