แม้ชีวิตจะยังเสี่ยงภัยเมื่อต้องออกลาดตระเวนเส้นทางรักษาความปลอดภัยครู แต่สำหรับเจ้าหน้าที่หน่วยเฉพาะกิจทหารพรานที่ 44 ยังคงทำหน้าที่รั้วของชาติอย่างเข้มแข็ง แม้ว่าเพื่อนของพวกเขา 4 นายจะจากไปอย่างไม่มีวันกลับหลังเสียงระเบิดในรถยนต์แบบหุ้มเกราะ ระหว่างออกลาดตระเวนบนถนนเจาะกือแย ต.ตะบิ้ง อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 22 ก.ย.2560 แต่ฝันร้ายครั้งนั้นก็ไม่ได้ทำให้พวกเขาละทิ้งภารกิจในการรักษาความปลอดภัยให้ครูและเด็กๆในโรงเรียนบ้านตะบิ้ง ซึ่งล้วนเป็นชาวไทยมุสลิม เพื่อให้เดินทางมาเรียนหนังสือและกลับบ้านอย่างปลอดภัย
การจากไปของอาสาสมัครทหารพราน 4 นาย จากเหตุระเบิดเมื่อวันที่ 22 ก.ย.2560 ไม่ใช่ความสูญเสียครั้งแรก แต่ช่วง 13 ปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่สังกัดกรมทหารพรานที่ 44 เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บระหว่างการปฎิบัติหน้าที่เกือบ 50 นาย เนื่องจากพื้นที่ในความรับผิดชอบจัดอยู่ในโซนสีแดงเข้ม คือ อ.สายบุรี อ.กะพ้อ และอ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี และในแต่ละวันพวกเขาก็มีภารกิจทั้งเชิงรับและเชิงรุก โดยภารกิจเชิงรับจะทำหน้าที่รักษาความปลอดภัย 10 เป้าหมาย เช่น ครู พระ ชุมชนเสี่ยง หรือสถานที่ราชการ ขณะที่ภารกิจเชิงรุกจะทำงานด้านการข่าว หรือการปิดล้อมตรวจค้น ซึ่งแม้ว่าการออกปฎิบัติงานแต่ละครั้งจะดำเนินการตามแผนที่วางไว้คือ มีการจัดกำลังเดินเท้าในเส้นทางที่ต้องการความละเอียดสูงในการตรวจสอบ การจัดกำลังชุดเคลื่อนที่เร็วเพื่อเผชิญเหตุโดยใช้รถจักรยานยนต์วิบาก หรือการจัดกำลังวางเป็นจุดๆในเส้นทางที่ห่างไกล แต่การป้องกันก็ไม่สามารถทำได้ทั้งหมด
หากย้อนกลับมาตรวจสอบยุทโธปกรณ์เพื่อป้องกันชีวิตของกำลังพลในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบัน มีการจัดแบ่งยุทโธปกรณ์เป็น 3 ประเภท คือ ยุทโธปกรณ์ประเภทเครื่องแต่งกายและอาวุธ เช่น เสื้อเกราะ หมวกเหล็กและอาวุธประจำกาย ซึ่งมากกว่าร้อยละ 70 ทางราชการจะเป็นผู้จัดหาที่เหลือมาจากบริจาค, ยุทโธปกรณ์ภาคสนามประเภทยานพาหนะ แบ่งเป็นรถยนต์ทางทหาร เช่น รถเกราะ และรถยนต์หุ้มเกราะ ใช้ปฎิบัติภารกิจในพื้นที่เสี่ยง แต่มักไม่คล่องตัว และรถยนต์พลเรือนที่ดัดแปลงเพื่อเสริมภารกิจในการลาดตระเวน หรือการขนย้ายกำลังพล โดยการใช้ยานพาหนะแต่ละแบบจะถูกเลือกใช้ให้เหมาะสมกับความเสี่ยง ความคล่องตัวและต้องกลมกลืนกับชุมชน ส่วนยุทโธปกรณ์ประเภทสุดท้ายคือ ยุทโธปกรณ์เฝ้าตรวจดูแลฐานที่มั่น ประกอบด้วยอุปกรณ์เครื่องสนาม บังเกอร์ ลวดหีบเพลง และกระสอบทราย
นอกจากนี้ บางหน่วยงานมีการจัดสรรยุทโธปกรณ์ให้เหมาะสมกับภารกิจ เช่น เครื่องตัดสัญญาณ หรือชุดเก็บกู้วัตถุระเบิด อย่างไรก็ตาม พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ยอมรับว่า แม้จะมียุทโธปกรณ์ที่เพียงพอ แต่การป้องกันเหตุรุนแรงทำได้ยาก เนื่องจากผู้ก่อเหตุใช้ยุทธศาสตร์ต่อสู้ในเขตเมืองแฝงตัวกับประชาชน ขณะที่ภารกิจของทหารที่ต้องปฎิบัติงานทุกวันในพื้นที่ซ้ำๆ โดยเฉพาะภารกิจในการคุ้มครองเป้าหมาย อีกทั้งกลุ่มแนวร่วมก็ได้พัฒนารูปแบบของระเบิดให้มีความหลากหลาย สามารถหลบเลี่ยงเครื่องตัดสัญญาณได้
จากข้อมูลของกองทัพภาคที่ 4 พบว่า อัตรากำลังพลในปี 2560 ทั้งทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง กองกำลังภาคพลเรือน มีทั้งสิ้น 61,604 นาย แต่ตั้งแต่ปี 2559-2560 ได้มีการปรับลดอัตรากำลังพลในส่วนของทหารเกือบ 8,000 อัตรา แต่ได้มีการเพิ่มกำลังพลในส่วนของกองกำลังภาคประชาชนมากขึ้น โดยการสนับสนุนด้านยุทโธปกรณ์ก็ถูกจัดแบ่งไปตามหน่วยงานที่ขึ้นตรง