วันนี้ (3 ต.ค.2560) นางสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์เกี่ยวกับกรณี น้ำเสียจากโรงงานผลิตเอทานอลที่ไหลทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนชาวบ้านสระบัวก่ำ อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมาว่า ทีมภาคสนามลงพื้นที่ตรวจสอบเบื้องต้นแล้วยืนยันไม่พบโลหะหนักปนเปื้อนในน้ำเสีย พบเพียงค่าความสกปรกและแก๊สไข่เน่าซึ่งเป็นที่มาของมลพิษทางกลิ่น โดยทางโรงงานจะนำแก๊สดังกล่าวไปหมักเป็นแก๊สธรรมชาติเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป
ส่วนรายละเอียดเพิ่มเติมของสารพิษปนเปื้อนในน้ำต้องใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์จึงจะรู้ผลจากห้องปฏิบัติการซึ่งได้ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำจาก 4 จุดใกล้บริเวณน้ำเสียทะลัก คือ บ่อกักเก็บน้ำชาวบ้านสระบัวก่ำห่าง 200 เมตร, จุดต้นน้ำห่าง 12 กม., คลองชลประทานห่าง 5 กม. และบริเวณคลองกระเสียวหลังประตูระบายน้ำห่าง 5 กม. ด้านความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประชาชนนั้นยังไม่ได้รับแจ้งข้อมูลอย่างเป็นทางการ
นางสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ บอกว่า แม้ว่ากรมควบคุมมลพิษจะประกาศให้โรงงานเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษและเฝ้าระวังแต่สามารถออกใบสั่งเตือนให้ปรับปรุงระบบและสั่งปรับได้เท่านั้น เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นทางกรมไม่สามารถสั่งปิดโรงงานได้ จึงได้ประสานกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมในการดำเนินการติดตาม ซึ่งในกรณีนี้ความผิดของโรงงานสามารถใช้ พ.ร.บ.โรงงาน สั่งปิด-ปรับได้ จึงมีการสั่งปิดโรงงานที่เกิดเหตุเป็นเวลา 45 วัน เพื่อให้ไปปรับปรุงระบบไม่ให้เกิดการรั่วไหลของน้ำเสียอีก
แนวทางการแก้ไขปัญหามี 2 วิธี คือ นำน้ำมาเจือจางโดยการปล่อยน้ำลงคลองเพื่อลดความเข้มข้นของความสกปรกในน้ำ แต่กรณีนี้อาจทำให้ความเสียหายกระจายไปเป็นวงกว้างเนื่องจากทิศทางการไหลของน้ำจะไหลไปยังคลองกระเสียวลงสู่แม่น้ำท่าจีน
อีกวิธีคือกักน้ำไว้ในบริเวณที่เกิดความเสียหายแล้วดำเนินการบำบัดตามกระบวนการทางชีววิทยาที่จะต้องหารือกันต่อไป ขณะนี้ทางจังหวัดยังไม่มีการเปิดประตูระบายน้ำคลองกระเสียว นางสุณี ระบุ
อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวเพิ่มเติมว่า อยากเตือนประชาชนท้ายน้ำ เกษตรกรและผู้เลี้ยงปลากระชังระมัดระวังการใช้น้ำหรือหากสามารถจับปลาก่อนได้ควรเร่งจับขึ้นมา ทั้งนี้ได้ประสานกับเครือข่ายสิ่งแวดล้อมภาคที่ 5 และ ทสจ.เฝ้าระวังคุณภาพน้ำและบ่อบำบัดน้ำเสียของโรงงานอีกฝั่งหนึ่ง เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ขึ้นอีก ส่วนประชาชนที่ได้รับความเสียหายสามารถฟ้องร้องตาม พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม เพื่อเรียกค่าเสียหายจากโรงงานได้