ผมคงไม่กลับไปยะไข่แล้ว เพราะที่นั่นไม่มีใครต้องการ ไม่มีบ้าน ไม่มีสวน ไม่มีอะไรเหลืออยู่ ทุกอย่างถูกเผาไปหมดแล้ว
เป็นถ้อยคำอันปวดปร่าของ “มูฮัมหมัด อิสลาม” ชายชาวโรฮิงญาวัยเกือบ 60 ปีที่หนีตายจากบ้านเกิดในเมืองหม่องดอร์ รัฐยะไข่ ประเทศเมียนมา เพื่อให้มีชีวิตรอดในดินแดนของประเทศเพื่อนบ้าน
หลังเหตุความรุนแรงเขาหนีจากบ้านเกิดพร้อมครอบครัว มีเพียงเสื้อผ้าติดตัว เพราะทรัพย์สมบัติที่เคยมีเหลือเพียงเถ้าถ่าน
“มูฮัมหมัด” เดินรอนแรมในป่าเขาถึง 5 วัน จึงพ้นชายแดนประเทศเมียนมาเข้าสู่เขตประเทศบังกลาเทศ ซึ่งเป็นดินแดนแห่งใหม่ที่เขาและครอบครัวจะรอดชีวิต
เขาจับจองท่อซีเมนส์ขนาดความกว้างไม่ถึงหนึ่งเมตร นอกค่ายบาลูกาลี ในเมืองคอกซ์บาซาเป็นสถานพักพิงชั่วคราวเพื่อหลบฝนหลบแดด เพราะการเป็นผู้มาใหม่ทำให้เขาเข้าไม่ถึงอุปกรณ์สร้างเพิงพัก
แม้การอยู่นอกค่ายผู้ลี้ภัยจะไม่สุขสบาย แต่เขากลับรู้สึกปลอดภัย
ผมไม่ได้กังวลแล้วว่า จะมีใครมาตามฆ่าหรือเปล่า แต่กังวลว่า จะมีอาหารพอประทังชีวิตหรือไม่
เพราะภายในเวลาเพียง 1 เดือน ทั้งในค่ายและนอกค่ายผู้ลี้ภัยในเมืองคอกซ์บาซา มีผู้อพยพเข้ามาใหม่ถึง 500,000 คน พวกเขาจึงต้องเผชิญภาวะขาดแคลนอาหารอย่างหนัก
ชายชราเล่าย้อนเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในดินแดนบ้านเกิดด้วยความขมขื่นว่า
เหตุการณ์เกิดในช่วงเช้ามืดของวันที่ 25 ส.ค. ตอนนั้นมีชายแต่งกายคล้ายทหารมาตามหากลุ่มผู้ก่อการร้าย ผมไม่เคยรู้ ไม่เคยเห็น แต่พวกเขาไม่เชื่อ จากนั้นก็จุดไฟเผาบ้าน ทั้งที่ตอนนั้นคนในบ้านกำลังนอนอยู่ พวกเราต้องรีบหนีมาก่อนจะถูกฆ่าตาย
แม้ในครอบครัวจะไม่มีใครเสียชีวิต แต่เพื่อนบ้านจำนวนมากต้องจบชีวิตไปกับเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งนี้
“ถ้าจะให้กลับไปเมียนมา รัฐบาลจะต้องคืนทรัพย์สินและบ้านที่ถูกเผาไปให้กับพวกเรา เพราะผมเป็นคนเมียนมา มีบัตรประชาชนที่รัฐบาลออกให้ ผมเป็นคนเมียนมา”มูฮัมหมัด กล่าวอย่างหนักแน่น
เขาเกิดและเติบโตในเมืองหม่องดอร์ มีอาชีพเกษตรกร แต่เมื่อ 2555 เหตุการณ์ความตรึงเครียดก็เกิดขึ้นในประเทศบ้านเกิด
ครั้งนั้นเกิดเหตุจลาจลหลังข้อพิพาทระหว่างชาวพุทธและชาวมุสลิมทำให้มีผู้เสียมีผู้เสียชีวิตกว่า 90 คน มีคนต้องหนีออกจากเมืองยะไข่กว่า 100,000 คน
แม้พื้นที่เกิดเหตุจะอยู่ในทางเหนือของรัฐยะไข่ แต่ก็ทำให้เมืองหม่องดอร์ที่มีประชากรเป็นชาวมุสลิมจำนวนมากรัฐยะไข่ได้รับผลกระทบไปด้วย
ชะตากรรมของชายชาวโรฮิงญาคนนี้ไม่แตกต่างจากเพื่อนร่วมชาติคนอื่นๆ อีกว่า 500,000 คน ที่พวกเขาต้องรอรับความช่วยเหลือจากองค์กรนานาชาติและรัฐบาลบังกลาเทศเพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้
“ฮะยี อิสมาอิล” ผู้อำนวยการเครือข่ายโรฮิงญาในประเทศไทย บอกว่า ก่อนหน้านี้มุสลิมชาวโรฮิงญาอยู่ร่วมกับชาวพุทธอย่างสันติ เหมือนพี่น้อง แต่ 5 ปีที่ผ่านมามีบาดหมางเกิดขึ้นในพื้นที่ ส่วนหนึ่งเกิดจากรัฐบาลออกมาตรการต่างๆ มาบังคับชาวโรฮิงญา เช่น การสำรวจสำมะโนครัวอย่างไม่เป็นธรรม เป็นต้น
"ผมไม่เคยคิดว่า พวกเราจะเจอชะตากรรมนี้ แม่ของผมต้องมาตาย ครอบครัวต้องแตกสลาย ในขณะที่ผมอยู่นอกประเทศก็ไม่สามารถช่วยอะไรพวกเขาได้เลย” ฮะยี กล่าวโทษตัวเอง
ขณะที่ยันตี อิสมาอิล โฆษกสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) บอกว่า ตอนนี้หน่วยงานนานาชาติและหน่วยงานในท้องถิ่นบังกลาเทศพยายามให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัย ทั้งการให้ที่พักพิง อาหาร และระบบสาธารณูปโภค
พวกเราได้แต่หวังว่า ในอนาคตรัฐบาลเมียนมาจะจัดการปัญหานี้ได้แล้วส่งพวกเขากลับประเทศบ้านเกิด
ปัญหาความรุนแรงในรัฐยะไข่มีมาอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2513 ที่รัฐบาลเมียนมาประกาศยุติการให้บัตรประชาชนชาวโรฮิงญา จากนั้นความขัดแย้งก็ปะทุมากขึ้น
โดยเฉพาะเมื่อ พ.ศ.2521 รัฐบาลเมียนมาประกาศใช้ปฏิบัติการ “นากามิน” หรือการสำรวจสำมะโนครัวอย่างเป็นระบบทำให้ชาวโรฮิงญาอพยพเข้าบังกลาเทศกว่า 200,000 คน จากนั้นความรุนแรงในพื้นที่ก็มีมากขึ้น
อิซัค โซเอล เลขาธิการมูลนิธิทรัพยากรแห่งอาเซีย เป็นผู้หนึ่งที่ช่วยเหลือชาวโรฮิงญามาต่อเนื่องนานกว่า 10 ปีบอกว่า ชาวโรฮิงญาส่วนใหญ่ไม่มีสถานะเป็นพลเมือง ไม่มีประเทศไหนรับรอง หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เป็นคนไร้รัฐ
“องค์กรนานาชาติเรียกความรุนแรงครั้งนี้ว่า เป็นฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ผมก็คิดว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเช่นนั้นจริงๆ เพราะชาวโรฮิงญาเป็นชาติพันธุ์ที่ถูกทารุณกรรมมากจริงๆ” เลขาธิการมูลนิธิทรัพยากรแห่งอาเซียน กล่าว
ชะตากรรมของชาวโรฮิงญาในต่างแดนวันนี้ แม้จะได้รับการบริจาคอาหารและความช่วยเหลือจากหน่วยงานนานาชาติและหน่วยงานในพื้นที่ไม่ขาดสาย แต่สิ่งเดียวที่พวกเขาต้องการ คือ การมีกลับไปมีสันติสุขในดินแดนประเทศบ้านเกิด “รัฐยะไข่ เมียนมา” ที่ตอนนี้ดูเหมือนความหวังจะเลือนลาง