ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดประสบการณ์เด็กไทยเข้าร่วมสเปซ แคมป์ "สจล.-สหรัฐฯ" แจกทุนปี 2 รับสมัครถึง 14 ต.ค.

Logo Thai PBS
เปิดประสบการณ์เด็กไทยเข้าร่วมสเปซ แคมป์ "สจล.-สหรัฐฯ" แจกทุนปี 2 รับสมัครถึง 14 ต.ค.
จะว่าไปแล้ว วิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ถือว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกฎของแรงโน้มถ่วง ไฟฟ้าสถิต ปรากฏการณ์จันทรุปราคา หรือสุริยุปราคา ดวงดาว และทางช้างเผือก รวมไปถึงการส่งยานอวกาศไปสำรวจดวงดาวต่างๆ ที่คาดว่าจะมีสิ่งมีชีวิตอยู่อาศัยมาก่อน

นักบินอวกาศจึงน่าจะเป็นหนึ่งในอาชีพในฝันของเด็กหลายคนในสมัยเด็ก ล่าสุด ความฝันของเด็กหลายคนคงเข้าใกล้ความเป็นจริงไม่มากก็น้อย หลังจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.), ศูนย์อวกาศและจรวดแห่งชาติสหรัฐฯ และบริษัทเอกชนหลายองค์กรร่วมแจกทุนการศึกษาในโครงการทุนการศึกษาค้นพบนักบินอวกาศไทย ปีที่ 2

 

 

 

ผู้ที่ชนะการแข่งขันชิงทุนจะได้เป็นตัวแทนของประเทศไทยไปศึกษาวิชาการสำรวจอวกาศเบื้องต้นในหลักสูตรเร่งรัด เป็นระยะเวลา 10 วัน ณ ศูนย์อวกาศและจรวดแห่งชาติสหรัฐ ฯ (สเปซ แคมป์) เมืองฮันท์สวิลล์ มลรัฐอลาบามา ประเทศสหรัฐฯ รวมถึงยังจะได้รับทุนการศึกษาจนจบระดับชั้นปริญญาตรีในคณะใดก็ได้ของ สจล.อีกด้วย

ไทยพีบีเอสออนไลน์จะพาไปฟังมุมมองและประสบการณ์จากเด็กไทย 2 คนใน 3 คนที่เป็นตัวแทนในปีแรก และอีก 1 คน ซึ่งเข้าร่วมโครงการด้วยทุนส่วนตัวในการเดินทางไปสัมผัสประสบการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิตที่น้อยคนนักที่จะได้พบเจอ ซึ่งอาจจะสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กไทยหลายคนมาร่วมไขว่คว้าโอกาสนี้ เพื่อให้ความฝันกลายเป็นความจริงขึ้นมาในที่สุด

 

น.ส.ชญานิษฐ์  โอภาสเสรีผดุง

น.ส.ชญานิษฐ์ โอภาสเสรีผดุง

น.ส.ชญานิษฐ์ โอภาสเสรีผดุง

 

น.ส.ชญานิษฐ์ โอภาสเสรีผดุง อายุ 17 ปี นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย เล่าให้ฟังว่า รู้จักโครงการนี้จากการที่โครงการมาประชาสัมพันธ์ที่โรงเรียน ซึ่งโดยปกติจะเป็นคนที่สนใจเกี่ยวกับอวกาศและดาราศาสตร์อยู่แล้ว ตอนเด็กจะชอบดูสารคดีวิทยาศาสตร์ และเข้าร่วมกิจกรรมกับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) อยู่เสมอๆ รวมทั้งไปท้องฟ้าจำลองกรุงเทพฯ จึงสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ

สำหรับประสบการณ์ที่ได้รับคือได้เห็นของจริง จรวดที่ถูกส่งไปในอวกาศ รู้จักเพื่อนมาก ทำให้มีคอนเนคชั่นในอนาคต ได้พัฒนาทักษะหลากหลาย ทำงานร่วมกันเป็นทีม และกล้าแสดงออกมากขึ้น ซึ่งในกลุ่มย่อยจะมีเด็กไทย 4 คน ออสเตรเลีย 6 คน และสหรัฐฯ 3 คน

ในอนาคต จะศึกษาต่อในด้านฟิสิกส์ทฤษฎี ส่วนไอดอลคือคุณพ่อและสตีเฟน วิลเลียม ฮอว์คิง นักฟิสิกส์ทฤษฎีและนักจักรวาลวิทยา ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เนื่องจากเป็นคนที่อุทิศตัวเอง ซึ่งมีความฝันอยากเป็นอาจารย์สอนมหาวิทยาลัยเหมือน ฮอว์คิง ด้วย

ส่วนการเตรียมตัวสอบชิงทุน โดยส่วนตัวแล้วไม่ได้เตรียมตัว เพราะมีความชอบด้านนี้อยู่แล้ว เชื่อว่าทุกคนที่เข้าสมัครเข้าร่วมโครงการจะทำเต็มที่แน่นอน แนะนำว่าให้อ่านข้อสอบเก่าของปีที่แล้ว ซึ่งข้อสอบมีทั้งแบบวัดไอคิว ทฤษฎีและประวัติเกี่ยวกับการสำรวจอวกาศ และหากผ่านเข้ารอบ 21 คนสุดท้ายจะมีการวัดอีคิว ก่อนจะได้เป็นตัวแทน 3 คนสุดท้าย

 

นายนาวิน งามภูพันธ์ (คนซ้ายสุด)

นายนาวิน งามภูพันธ์ (คนซ้ายสุด)

นายนาวิน งามภูพันธ์ (คนซ้ายสุด)

 

นายนาวิน งามภูพันธ์ อายุ 17 ปี นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย เล่าว่า รู้จักโครงการนี้จากเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยเป็นตัวแทน 1 ใน 4 คนจากโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ถือว่าโชคดีที่ได้เข้ารอบ 21 คนสุดท้าย และเป็น 1 ใน 3 คนสุดท้ายที่ได้ไปสเปซ แคมป์

ตอนเด็ก ครอบครัวสนับสนุนและชอบเกี่ยวกับด้านอวกาศอยู่แล้ว ซื้อหนังสือวิทยาศาสตร์มาอ่าน และพาไปศึกษาที่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์เป็นบ้างครั้ง ส่วนตัวแล้วได้รับแรงบันดาลใจจากโครงการสเปซ แคมป์ มาก เนื่องจากได้ไปดูของจริงและของเสมือนจริงว่าทำยังไง ไม่ว่าจะเป็นการทำกระสวยอวกาศและจรวด นอกจากนี้ ยังได้รับประสบการณ์และภาษา การทำงานเป็นทีมจากการทำภารกิจ ตลอดจนการติดต่อสื่อสาร

ปัจจุบัน ศึกษาอยู่ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา และในอนาคต อยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ ส่วนไอดอล จริงๆ แล้วไม่มีใครเป็นต้นแบบ แต่หากจะมีคงเป็น อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เนื่องจากเป็นคนคิดค้นทฤษฎีสัมพันธภาพ คิดว่าเขาเป็นคนเปลี่ยนมุมมองของเราไปเลย แต่ไม่ได้คิดจะเอาเยี่ยงอย่างขนาดนั้น

 

ด.ช.ติณหพัชร์ ปฏิมาวิรุจน์

ด.ช.ติณหพัชร์ ปฏิมาวิรุจน์

ด.ช.ติณหพัชร์ ปฏิมาวิรุจน์

 

ด.ช.ติณหพัชร์ ปฏิมาวิรุจน์ อายุ 10 ปี เล่าว่า เข้าร่วมโครงการนี้มาแล้ว 2 ครั้ง ตั้งแต่อายุ 8 ปี โดยคุณแม่ให้การสนับสนุนด้วยทุนส่วนตัว ซึ่งในปีแรก เข้าร่วมโครงการสเปซ แคมป์ และในปีเดียวกันนั้นถือว่าเป็นเด็กไทยเพียงคนเดียวที่เข้าร่วมโครงการ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการทำงานในอวกาศ จรวด วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ภาวะผู้นำ การทำงานเป็นทีม ทำให้มีความมั่นใจมากขึ้น และรู้จักเพื่อนชาวต่างชาติ

ส่วนในปีที่ 2 ได้เข้าร่วมโครงการสเปซ อะคาเดมี่ และในปีหน้า ตั้งใจว่าจะเข้าร่วมโครงการอีกครั้ง แต่จะเป็นโครงการเอวิเอชั่น ชาเลนจ์ ซึ่งเป็นโครงการฝึกนักบินเอฟ 18 ด้วย

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสมัครเข้าสอบแข่งขันชิงทุนการศึกษาได้ที่ www.spacecampthailand.com ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 14 ต.ค.นี้ ค่าลงทะเบียนสมัครสอบ 500 บาท ส่วนตัวแทนโรงเรียน 4 คน ไม่เสียค่าใช้จ่าย ส่วนการสอบจะจัดขึ้นในวันที่ 22 ต.ค.นี้ เวลา 09.00-12.00 น. ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. และ "สเต็ม แคมป์" มีขึ้นระหว่างวันที่ 17-19 พ.ย.นี้

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง