ปัจจุบันไทยพบปลาสายพันธุ์เอเลี่ยนสปีชีส์หลุดลอดลงแหล่งน้ำในหลายพื้นที่เช่น ปลาพีค็อกเเบส ที่พบในแหล่งน้ำ จ.เพชรบุรี และระยอง ซึ่งยากจะกำจัด แต่พบว่าบางพื้นที่มีการเลี้ยงปลาสายพันธุ์เอเลี่ยนสปีชีส์ไว้ในบ่อ เพื่อทำเป็นธุรกิจตกปลา ซึ่งอาจเข้าข่ายผิดกฏหมายของกรมประมง
อ่างเก็บพุหวาย ต.ห้วยทรายเหนือ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี คือแหล่งที่พบการกระจายพันธุ์ของปลาพีค็อกแบส หรือชาวบ้านในพื้นที่เรียกว่าปลากะพงจุด ซึ่งที่ผ่านมานักจับปลามักจับได้บ่อยครั้ง
"พีค็อกแบส" เป็นปลากินเนื้อน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดชนิดหนึ่งพบแถวทวีปแอฟฟิกาใต้ ชาวบ้านต่างรู้ว่ามันเป็นปลาต่างถิ่นที่ไม่มีในไทยและเชื่อว่ามีคนนำมาปล่อย จนขยายพันธุ์จำนวนมาก
ปัจจุบันพบปลาชนิดนี้กระจายพันธุ์หลายพื้นที่ทั้งในอ่างเก็บน้ำพุหวาย ห้วยเกษม จ.เพชรบุรี และตามแหล่งน้ำธรรมชาติที่ อ.แกลง จ.ระยอง เช่นเดียวกับปลาสายพันธุ์เอเลี่ยนสปีชีส์อีกหลายชนิด ที่กำลังรุกรานสัตว์น้ำท้องถิ่นและระบบนิเวศของไทย จนกรมประมงต้องขอความร่วมมือให้ผู้ครอบครองหรือเลี้ยงไม่ไหวส่งมาให้กรมประมงกำจัด
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ากังวลคือปลาสายพันธุ์ต่างประเทศถูกนำไปเลี้ยงในบ่อ เพื่อทำเป็นธุรกิจให้นักตกปลาจับเพื่อกีฬา บางสายพันธุ์เป็นเอเลี่ยนสปีชีส์ที่มีโอกาสหลุดลอดลงแหล่งน้ำธรรมชาติ และเข้าข่ายผิดกฎหมายของกรมประมง มีโทษจำคุก 2 ปี ปรับ 2,000,000 บาท
ขณะเดียวกัน กรมประมงและสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเตรียมทบทวนบัญชีสัตว์และพืชเอเลี่ยนสปีชีส์ เพื่อป้องกันการลักลอบนำเข้ารุกรานระบบนิเวศ เพราะหากแพร่พันธุ์จำนวนมากอย่างปลาหมอสีคางดำ อาจจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ยากจะกำจัด