วานนี้ (9 ต.ค.2560) นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง หรือ ทช. เปิดเผยว่า จะดำเนินการจัดระเบียบการสูบบุหรี่ตามชายหาดต่างๆ โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือน พ.ย.นี้ อาศัยอำนาจตามมาตรา 17 ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จัดระเบียบห้ามสูบบุหรี่ในบริเวณชายหาดนำร่อง 20 หาด เช่น หาดบางแสน หาดพัทยา หาดจอมเทียน จ.ชลบุรี หาดชะอำ หาดเขาตะเกียบ จ.เพชรบุรี หาดบ่อผุด หาดทรายรี หาดป่าตอง จ.ภูเก็ต หาดสมิหลา จ.สงขลา เป็นต้น โดยในอนาคตก็จะประกาศเต็มรูปแบบทั่วทุกหาด
สำหรับมาตรการนี้จะไม่ได้ห้ามสูบบุหรี่บนชายหาดโดยเด็ดขาด แต่จะจัดระเบียบให้สูบเป็นที่เป็นทางก่อนลงไปเดินชายหาด มีที่สำหรับทิ้งก้นบุหรี่ให้ การดูแลควบคุม ก็มีเจ้าหน้าที่ของกรมฯ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ส่วนท้องถิ่นช่วยกันดูแล
สำหรับโทษ จะดำเนินการตามกฎหมายเต็มรูปแบบ คือ ฝ่าฝืนจำคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากการห้ามสูบบุหรี่ ชายหาดแล้วปัญหาการทิ้งก้นบุหรี่ลงในทะเลโดยตรงจากเรือโดยสารและเรือนำเที่ยวก็มีปริมาณมาก เรื่องนี้ก็จะเป็นมาตรการในระยะใกล้นี้ คือห้ามสูบบุหรี่ในเรือโดย สาร หรือเรือท่องเที่ยว โดยจะหารือกับกรมเจ้าท่าเพื่อหาวิธีการเนินการต่อไป
นายจตุพร บอกว่า จากข้อมูลของ ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทะเลอันดามัน สำรวจปริมาณขยะก้นบุหรี่ บริเวณพื้นที่ชายหาดป่าตอง โดยเก็บข้อมูลพื้นที่9 ตารางเมตร ที่ความลึก 10 เซนติเมตร พบเศษก้นบุหรี่ประมาณ 130,000 มวน ต่อชายหาด 2.5 กิโลเมตร
จากข้อมูลประเทศที่มีชายหาด พบว่า ซองบุหรี่ และก้นกรองบุหรี่ เป็นขยะที่พบบ่อยที่สุด โดยมีปริมาณถึง 1 ใน 3 ของปริมาณขยะทั้งหมดของชายหาด ส่วนบนท้องถนน หรือตามเมืองใหญ่เฉพาะประเทศไทย พบว่า แต่ละวันมีก้นบุหรี่มากกว่า 100 ล้านชิ้น ตกค้างในสิ่งแวดล้อม ขยะที่อุดตันทางระบายน้ำได้ และเมื่อสัมผัสกับน้ำจะปล่อยสารเคมีที่เป็นพิษ เช่นแคดเมียม ตะกั่ว สารหนูและอนุพันธุ์ของยาฆ่าแมลง ซึ่งเป็นพิษต่อห่วงโซ่อาหาร