วันนี้ (12 ต.ค.2560) เวลา 08.00น. สำนักพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ออกประกาศชี้แจง ข่าวเตือนภัยพายุจ่อเข้าไทย 3 ลูกซ้อน ตามที่นักวิชาการและสื่อบางรายการ ได้มีการนำแบบจำลองสภาพอากาศจากคอมพิวเตอร์ มาคาดการณ์การเกิดพายุหมุนเขตร้อนล่วงหน้าในช่วง 1-2 สัปดาห์นี้ โดยระบุว่าจะมีพายุเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย 3 ลูก และมีผลกระทบทำให้เกิดฝนตกหนักและเกิดน้ำท่วมเพิ่มเติม
จากปัจจุบัน กรมอุตุนิยมวิทยาซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการติดตามและแจ้งเตือนภัย มีข้อแนะนำแก่ประชาชนและชี้แจงดังนี้
1. การทำงาน ติดตาม และพยากรณ์อากาศ ของกรมอุตุนิยมวิทยา มีการนำผลการตรวจอากาศที่เกิดขึ้นจริง และการใช้ข้อมูลดาวเทียมในการวิเคราะห์สภาพอากาศ และยังได้มีการใช้แบบจำลองสภาพอากาศจากคอมพิวเตอร์ของประเทศไทย และจากศูนย์พยากรณ์อากาศชั้นนำจากประเทศต่างๆ มาสังเคราะห์และเปรียบเทียบเพื่อให้ได้ข้อมูลถูกต้องที่สุด เนื่องจากแบบจำลองสภาพอากาศจากคอมพิวเตอร์จะมีความคลาดเคลื่อนและถูกต้องน้อยลง เมื่อระยะเวลาพยากรณ์นานขึ้นเรื่อยๆ
2. จากการวิเคราะห์สภาพอากาศปัจจุบัน (วันที่ 12 ตุลาคม 2560) พบว่า
ในช่วงวันที่ 12-14 ตุลาคม 2560
- บริเวณทะเลอันดามัน และอ่าวเบงกอล ไม่มีพายุก่อตัวขึ้นแต่อย่างใด เป็นเพียงหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมทางด้านประเทศเมียนมา และไม่ส่งผลกระทบต่อลักษณะอากาศภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งภาคใต้จะได้รับอิทธิพลจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ประจำฤดูเท่านั้น
-บริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออก กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะมีร่องมรสุมพาดผ่านทำให้มีฝนตกต่อเนื่องในระยะนี้ อาจส่งผลทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่ม ที่มีน้ำท่วมขังอยู่แล้ว
ในช่วงวันที่ 15-17 ตุลาคม 2560
จากวิเคราะห์ข้อมูลล่าสุด คาดว่าจะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนผ่านทะเลจีนใต้ เข้ามาบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน แต่เนื่องจากความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาบริเวณประเทศเวียดนามในช่วงดังกล่าว ทำให้พายุนี้จะอ่อนกำลังลงอย่างรวดเร็วและไม่ส่งผลกระทบกับประเทศไทยโดยตรง
สำหรับในระยะนี้ บริเวณประเทศไทยยังมีร่องมรสุมพาดผ่าน ประกอบมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน และภาคใต้ มีกำลังแรงขึ้น ซึ่งจะส่งผลทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักเกิดขึ้นได้หลายพื้นที่
หลังจากวันที่ 17 ตุลาคม 2560
การวิเคราะห์ผลจากแบบจำลองสภาพอากาศ (ข้อมูลแบบจำลองวันที่ 12 ตุลาคม 2560) พบว่า ยังมีโอกาสที่จะมีพายุก่อตัวขึ้นบริเวณทะเลจีนใต้ แต่เนื่องจากข้อมูลจากแบบจำลองจะมีความถูกต้องน้อยลงมาก เมื่อระยะเวลาพยากรณ์นานขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นจึงไม่มีศูนย์พยากรณ์ใดที่สามารถยืนยันข้อมูลว่ามีความถูกต้องเพียงใด แต่จะเป็นสัญญาณให้นักอุตุนิยมวิทยาเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด
กรมอุตุนิยมวิทยาและหน่วยงานต่างๆ ได้มีการประชุม วิเคราะห์ข้อมูล และติดตามสถานการณ์ร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงขอให้ประชาชน ติดตามข้อมูลการพยากรณ์อากาศและการแจ้งเตือนภัยจากหน่วยราชการเท่านั้น ในการประกาศแจ้งเตือนจะมีรายละเอียด วันและเวลาที่แน่นอน และขอให้อย่าได้ตื่นตระหนกจากข้อมูลที่ไม่ได้มาจากผู้ทำงานรับผิดชอบโดยตรง หรือการส่งต่อกันตามสื่อออนไลน์ต่างๆ และสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วน 1182 และหมายเลขโทรศัพท์ 0 2399 4012-3 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา https://www.tmd.go.th/