วันนี้ (12 ต.ค.2560) พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน ในฐานะโฆษกคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม ระบุว่า ได้กำหนด 7 แนวทางการปฏิรูปประเทศที่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 257 กำหนดไว้ โดยเปิดรับฟังความเห็นของประชาชนเพื่อนำไปวิเคราะห์ประกอบการจัดทำแผนการปฏิรูป ตั้งแต่วันนี้ (12 ต.ค.) ไปจนถึงวันที่ 24 ธ.ค.2560 ที่จะต้องส่งแผนต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ
ทั้งนี้ ได้นำข้อเสนอจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมมาประกอบการพิจารณาด้วย เมื่อแผนผ่านความเห็นชอบจะเข้าสู่การขับเคลื่อนดำเนินการให้เกิดรูปธรรมตามวาระการทำหน้าที่ของคณะกรรมการปฏิรูป 5 ปี โดยเปรียบเทียบแผนการปฏิรูปประเทศครั้งนี้ว่า ในอดีตเมื่อมีปัญหาบ้านเมือง และประชาธิปไตยไทย คือจักรยานที่ขี่ไปเกิดล้มลุกและเกิดการยึดจักรยาน หรือการทำรัฐประหาร ที่อดีตเมื่อยึดมาแล้วก็ปล่อยให้ขี่ต่อและล้มอีก แต่ว่าการรัฐประหารครั้งนี้จะไม่ปล่อยให้จักรยานขี่ไปทันที โดยจะมีการประคองจักรยานด้วยแผนการปฏิรูปประเทศ แผนยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อไม่ให้จักรยานประชาธิปไตยล้ม หรือเกิดการรัฐประหารอีก โดยมั่นใจว่าจักรยานจะไม่ล้มลงคูด้วยข้อกฎหมายที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องไม่ว่ารัฐบาลใดต้องดำเนินการตามแผนการปฏิรูปนี้
พล.ต.ท.อำนวย กล่าวเพิ่มเติมว่า จะเปิดรับฟังความเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปตำรวจและการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายไปพร้อมกัน เพราะในการดำเนินการสุดท้ายจะบูรณางานกับคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ เพื่อให้งานสอบสวนมีการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการ
สำหรับ 7 ประเด็น ประกอบด้วย 1.การกำหนดระยะเวลาการดำเนินงานของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมในทุกขั้นตอนให้มีความชัดเจน โดยมุ่งหมายให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมโดยไม่ล่าช้า 2.สร้างกลไกช่วยเหลือประชาชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยง่าย 3.สร้างกลไกเพื่อให้มีการบังคับการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ 4.สร้างกลไกเพื่อให้มีการบังคับการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดเพื่อลดความไม่เป็นธรรมในสังคม 5.ปรับปรุงระบบสอบสวนคดีอาญา โดยให้มีการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการ กำหนดระยะเวลาการปฏิบัติเพื่อไม่ให้คดีขาดอายุความ และสร้างความเชื่อมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ 6.กำหนดให้นำนิติวิทยาศาสตร์มาใช้ในการสอบสวนคดีอาญา รวมทั้งจัดให้มีบริการด้านนิติศาสตร์มากกว่าหนี่งหน่วยงานและมีอิสระจากกัน และ7.เสริมสร้างและพัฒนาวัฒนธรรมองค์กรของหน่วยงานต่างๆ ในกระบวนการยุติธรรมให้มุ่งอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนโดยสะดวกและรวดเร็วเป็นสำคัญ
ทั้งนี้ เปิดรับฟังความเห็นผ่านเว็บไซต์สำนักงานศาลยุติธรรม http://refrom.coj.go.th, เพจการปฏิรูปประเทศของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษบกิจและสังคมแห่งชาติ https://www.facebook.com/ร่วมปฏิรูปประเทศ-1656871104331436 และ ตู้ ปณ.33 รัฐสภา กทม. 10400 นอกจากนี้จะเปิดเวทีจัดสัมมนาเพื่อรับฟังความเห็นของประชาชนอีกครั้งช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน โดยจะแจ้งสถานที่วันและเวลาต่อไป