โครงการพระราชดำริ ของพระบาทสมด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กว่า 4,000 โครงการ ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งอ่างเก็บน้ำคลองหัวช้าง อ.ตะโหมด จ.พัทลุง เป็นอีกหนึ่งโครงการด้านจัดการน้ำ เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งและป้องกันน้ำท่วม ตามแนวทางศาสตร์พระราชา ที่นักวิชาการเสนอให้รัฐบาลและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง นำไปเป็นยุทธศาสตร์หลักในการพัฒนาประเทศ
คำแนะนำวิธีการจัดการน้ำ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งพระองค์ได้ให้ใว้กับเจ้าหน้าที่และพสกนิกรในทุกโอกาส ที่เสด็จเยี่ยมเยือนราษฎรตามสถานที่ต่างๆ เนื่องจากน้ำ เป็นหัวใจสำคัญทั้งในภาคเกษตรกรรม การอุปโภคบริโภค รวมทั้งเกี่ยวข้องปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง การเสด็จเยี่ยมเยือนราษฎร จ.พัทลุง เมื่อปี 2520 ทำให้รับรู้ถึงปัญหาต่างๆ ของพสกนิกรในพื้นที่ทั้งปัญหาน้ำไม่เพียงพอในการอุปโภคและบริโภค และการทำเกษตรกรรมโดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง
โครงการอ่างเก็บน้ำคลองหัวช้าง อันเนื่องมาจากพระราชดำริจึงเกิดขึ้นเป็นอีกหนึ่งโครงการที่เป็นเแหล่งน้ำต้นทุนสำคัญ ของ จ.พัทลุง สามารถเก็บน้ำได้ถึง 30 ล้านลูกบาศก์เมตร ช่วยเติมเต็มให้ฝายทดน้ำท่าเชียด สามารถส่งน้ำเข้าสู่ระบบชลประทานได้ทั้ง 8 สาย รวมระยะทางกว่า 90 กิโลเมตร ช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ ได้ทั้งใน อ.เขาชัยสน ป่าบอน ปากพะยูน และ อ.บางแก้ว ส่งผลให้ ชาวนา สามารถทำนาได้ปีละ 2-3 ครั้ง รวมทั้งรองรับพื้นที่การเกษตรอื่นๆ อีกกว่าหนึ่งแสนไร่
นายวรรณ ขุนจันทร์ อายุ 84 ปี อาจารย์พิเศษ สาขาวิชาการเรียนรู้วิถีชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ เล่าว่า ที่ผ่านมามีโอกาสรับเสด็จในหลวงรัชกาลที่ 9 ถึง 2 ครั้ง คือ เมื่อปี 2501 พระองค์เสด็จเยี่ยมเยือนราษฎร ใน จ.สงขลา และปี 2520 เสด็จมายัง จ.พัทลุง เพื่อรับฟังปัญหา ความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งพสกนิกรรับรู้โดยทั่วกันว่า หากพระองค์เสด็จไปยังพื้นที่ใดแล้ว ก็จะนำความอุดมสมบูรณ์มาสู่พื้นที่นั้นๆ ผ่านโครงการพระราชดำริมากมาย ซึ่งมีให้เห็นในทุกจังหวัดของประเทศไทย และเชื่อว่าหากคนไทยนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์มาปฏิบัติอย่างจริงจัง ประเทศไทยก็จะหลุดพ้นจากกับดักของความอยากจน
นายจรูญ หยูทอง นักวิชาการเครือข่ายองค์กรชุมชนและสังคมภาคใต้ ระบุว่า ประชาชนมีความพร้อมและตื่นตัวมากขึ้น ในการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวทางศาสตร์พระราชามาใช้ในการดำเนินชีวิต แต่ยังขาดความเชื่อมั่นในระบบราชการ รวมทั้ง นโยบายของภาครัฐ ที่ยังถูกบดบังจากกระแสโลกาภิวัฒน์ ทำให้หลักการเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ขาดแรงหนุนเสริม จากกลไกภาครัฐ ซึ่งสังคมไทยจะต้องช่วยกันขับเคลื่อนแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงให้จริงจังมากขึ้น และเชื่อว่าศาสตร์ของพระราชา คือ รูปแบบของสังคมที่เป็นธรรม ซึ่งจะเป็นแนวทางสู่สันติภาพของสังคมโลก
นายจรูญ หยูทอง นักวิชาการเครือข่ายองค์กรชุมชนและสังคมภาคใต้ ยังเรียกร้องให้รัฐบาลนำศาสตร์พระราชา มาใช้เป็นแนวทางในการปฏิรูปประเทศ ตามยุทธศาสตร์ชาติ และควรกำหนดให้เป็นวาระหลัก ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพื่อให้สมพระเกียรติกับ คำว่า"ภูมิพล" ซึ่งหมายถึง พระราชาผู้เป็นพลังของแผ่นดิน