ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

นายกฯ สั่ง มท.เร่งแก้ปัญหาน้ำท่วม - เยียวยาผู้ประสบภัย

ภูมิภาค
5 พ.ย. 60
14:39
255
Logo Thai PBS
นายกฯ สั่ง มท.เร่งแก้ปัญหาน้ำท่วม - เยียวยาผู้ประสบภัย
นายกฯ รับรายงานสถานการณ์น้ำภาคกลางเริ่มคลี่คลาย สั่งเร่งรัดแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง พร้อมกำชับทุกจังหวัดสร้างความมั่นใจกับประชาชน เตรียมสำรวจความเสียหายและช่วยเหลือ

วันนี้ (5 พ.ย.2560) พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
ได้รับทราบรายงานสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ล่าสุด โดยกรมชลประทานได้ปรับลดการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาในภาพรวมลง 300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้ระดับน้ำในช่วง อ.สรรพยา จ.ชัยนาท เริ่มลดลง 15-20 เซนติเมตร ส่วน จ.สิงห์บุรี และอ่างทอง ลดลง 10 เซนติเมตร ส่วนบริเวณคลองโผงเผงและคลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ลดลง 6-8 เซนติเมตร และคาดว่าจะลดลงอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ยังมีการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำบริเวณปากแม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อบังคับน้ำให้ไหลลงสู่ทะเลรวดเร็วขึ้น ควบคู่กับการระบายน้ำออกจากทุ่ง 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มต้นที่ทุ่งบางระกำ จ.พิษณุโลก ตั้งแต่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา และจะดำเนินการต่ออีก 12 ทุ่งตอนล่าง ในวันที่ 15 พ.ย.นี้ โดยย้ำว่าน้ำที่ถูกระบายออกจะเข้าสู่ระบบชลประทานก่อนแล้วจะกระจายออกไปฝั่งซ้ายและขวา ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ที่น้ำท่วมอยู่แล้ว

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเป็นห่วงประชาชนที่ประสบภัยทุกพื้นที่ จึงได้ออกตรวจเยี่ยมเร่งรัดการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำเป็นอย่างมาก เนื่องจากประเทศไทยเกิดปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งเป็นประจำทุกปี อย่างไรก็ตาม ปริมาณฝนในปี 2554 และปี 2560 มีความใกล้เคียงกัน คือ 1,771 มิลลิเมตร และ 1,740 มิลลิเมตร ตามลำดับ แต่รัฐบาลได้ทบทวนแนวทางการป้องกันและรับมือกับปัญหาเป็นอย่างดี จึงทำให้เกิดผลกระทบน้อยกว่าในอดีต โดยเฉพาะพื้นที่การเกษตรที่เลื่อนระยะเวลาเพาะปลูกให้เร็วขึ้น เช่น ทุ่งบางระกำ และอีก 12 ทุ่งใต้เขื่อนเจ้าพระยา ทำให้สามารถรองรับน้ำจากพื้นที่ตอนบนไม่ให้ไหลลงสู่ด้านล่างได้ถึง 2,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

สำหรับพื้นที่ที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลายลงแล้ว นายกรัฐมนตรีได้สั่งการผ่านกระทรวงมหาดไทยไปยังแต่ละจังหวัด เพื่อให้เร่งสำรวจ ประเมิน และจัดทำบัญชีความเสียหายให้ครอบคลุมทุกด้าน ทั้งด้านชีวิต ครอบครัวผู้เสียชีวิตทุกราย ด้านการประกอบอาชีพ ด้านที่อยู่อาศัย ด้านการเกษตร ด้านสิ่งสาธารณประโยชน์ เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยและฟื้นฟูความเสียหายให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว

พร้อมขอให้ทุกจังหวัดที่ประสบภัยทำความเข้าใจกับประชาชน เพื่อให้ทุกคนคลายความกังวลจากปัญหาที่ต้องพบเจอ โดยรัฐบาลและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจะไม่ทอดทิ้งผู้ประสบภัย และพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนอย่างเต็มที่ตามระเบียบและหลักเกณฑ์ที่กำหนด จึงขอให้ทุกคนเชื่อมั่นและร่วมมือเพื่อฝ่าวิกฤติไปด้วยกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง