นาข้าวเกือบ 400 ไร่ ที่เหลือเวลาเก็บเกี่ยวอีกเพียง 2 สัปดาห์ ของชาวบ้านหนองข่า ต.ท่าตูม อ.เมือง จ.มหาสารคาม ต้องเสียหายทั้งหมดหลังจากน้ำชีได้ทะลักไหลเข้าท่วม เมื่อ 4 พ.ย. ที่ผ่านมา แนวกระสอบทรายตลอดริมถนนเรียบริมฝั่งแม่น้ำชี และการทำพนังไม้กั้นชั่วคราว ระหว่างสถานีสูบน้ำเขื่อนวังยาง กับบ้านท่าตูม ระยะทางกว่า 3 กิโลเมตร จึงเป็นแนวทางทางป้องกันอีกชั้น เนื่องจากยังไม่สามารถปิดกั้นจุดที่ทรุดพังได้
ถนนเรียบริมฝั่งแม่น้ำชีก่อสร้างเมื่อ ปี 2547 โดยกรมทรัพยากรน้ำ ก่อนจะส่งมอบให้หน่วยงานท้องถิ่นรับผิดชอบ และเมื่อปี 2554 เคยเกิดปัญหาทรุดพังมาแล้ว จึงทำให้ผู้นำชุมชนเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐเข้ามาแก้ปัญหาในระยะยาว เนื่องจากพนังดินที่สร้างขึ้นอาจไม่ได้มาตรฐาน และเกินความสามารถของหน่วยงานท้องถิ่นที่จะรับผิดชอบได้
ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการทรุดพังของพนังกั้นน้ำชีบ้านท่าตูม ทำให้นาข้าวเสียหายเพียง 10,000 ไร่ ขยายวงกว้างเพิ่มขึ้นเป็น 16,000 ไร่ รวมทั้งบ้านเรือนชาวบ้านใน อ.จังหาร จ.ร้อยเอ็ด บางส่วน แต่หัวหน้าฝ่ายบริหารจัดการน้ำ สำนักงานชลประทานที่ 6 ยืนยันว่า ผลกระทบจะไม่ขยายวงกว้างเพิ่ม
นอกจากนี้ข้อมูลจากสำนักงานชลประทานที่ 6 พบว่ามีพนังกั้นน้ำทรุดพังหลายแห่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพนังดินส่วนสาเหตุของการทรุดพัง ส่วนใหญ่เกิดการก่อสร้างพนังที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานทางวิศวกรรมทำให้ดินอุ้มน้ำมากเกินไป และการกัดเซาะใต้ดินซึ่งทำให้ชลประทานได้เสนอแผนปรับปรุงและก่อสร้องพนังตลอดริมฝั่งแม่น้ำชีเพิ่มเพื่อแก้ปัญหาในระยะยาว