วันนี้ (9 พ.ย.2560) นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร พร้อมด้วย พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติศรีวรขาน รองผบ.ตร. นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และนายกิตติพงศ์ กิตติขจร รองผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิสายปฏิบัติการ 1 ร่วมกันแถลงข่าวการตรวจยึดงาช้าง จำนวน 4 กิ่ง 39 ท่อน น้ำหนัก 116 กิโลกรัม และเกล็ดลิ่น จำนวน 15 กิโลกรัม รวมมูลค่ากว่า 11 ล้านบาท
จากการวิเคราะห์ข้อมูลของเจ้าหน้าที่ศุลกากรพบว่า ขบวนการค้างาช้างจะลักลอบนำงาช้างเข้ามาในประ เทศไทยในเที่ยวบินที่มาจากหรือผ่านประเทศในทวีปแอฟริกา ซึ่งเป็นเที่ยวบินที่มีความเสี่ยงสูงที่เครือข่ายลักลอบค้าสัตว์ป่าและพืชป่าใกล้สูญพันธุ์ โดยใช้วิธีการสำแดงชนิดสินค้าที่เห็นได้ว่าเป็นสินค้าประจำถิ่นในประเทศแถบแอฟริกา เพื่อหลบเลี่ยงการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่จึงเฝ้าระวังสินค้าที่มีต้นทาง จากประเทศกลุ่มเสี่ยง
ตบตาจนท.สำแดงเป็น "กระเพาะปลา"
โดยเมื่อวันที่ 30 ต.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ศุลกากร สำนักสืบสวนและปราบปราม และสำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้ตรวจสอบข้อมูลบัญชีสินค้าทางอากาศยานโดยพบข้อมูลการนำเข้าที่มีความเสี่ยงในการลักลอบค้าสัตว์ป่าและพืชป่าใกล้สูญพันธุ์ นำเข้ามาทางสายการบินเตอกิซแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ TK064 ขนส่งจากต้นทางท่าอากาศยานกินชาซา เมืองกินชาซา ประเทศคองโก ปลายทางท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ประเทศไทย สำแดงชนิดสินค้าเป็น กระเพาะปลา จำนวน 3 หีบห่อ น้ำหนักรวมประมาณ 120 กิโลกรัม เจ้าหน้าที่จึงได้อายัดสินค้าและตรวจสอบด้วยเครื่องเอกซเรย์ ผลปรากฏพบภาพวัตถุคล้ายงาช้าง เจ้าหน้าที่จึงรอผู้รับตราส่งมาปฏิบัติพิธีการทางศุลกากร เพื่อเตรียมทำการจับกุม แต่ก็ไม่มีผู้ใดมาแจ้งขอดำเนินพิธีการทางศุลกากรแต่อย่างใด
พบโยงคดีลักลอบขนงาช้าง เดือนก.ย.นี้
จากการสืบสวนพบว่าการลักลอบนำเข้าในครั้งนี้ มีความเชื่อมโยงกับการลักลอบนำเข้างาช้าง จำนวน 1 กิ่ง 28 ท่อน ที่ถูกตรวจยึดเมื่อวันที่ 18 ก.ย.2560 และเป็นการใช้ชื่อ-ที่อยู่ปลอม เพื่อปกปิดอำพรางไม่ให้เจ้าหน้าที่ตรวจพบ ดังนั้น เมื่อวันที่ 7 พ.ย.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ศุลกากรจึงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยว ข้องเปิดตรวจสินค้า ซึ่งพบงาช้างจำนวน 4 กิ่ง 39 ท่อน น้ำหนักรวม 116 กิโลกรัม และเกล็ดลิ่น 15 กิโลกรัม ซุกซ่อนมาในกล่องกระดาษสีน้ำตาล และห่อหุ้มด้วยพลาสติกใสอีกชั้นหนึ่ง
กรณีดังกล่าวเป็นการลักลอบนำเข้างาช้างซึ่งเป็นสัตว์ป่า ซากของสัตว์ป่าหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าชนิดที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด หรือนำผ่านซึ่งสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง ซากของสัตว์ป่าสงวน ซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจาก ซากของสัตว์ป่าดังกล่าว โดยไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 พระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
เจ้าหน้าที่ได้ยึดงาช้างทั้งหมดไว้เป็นของกลางและส่งให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เก็บรักษา ส่วนสำนวนคดีส่งพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ บก.ปทส. เพื่อดำเนินการตามกฎหมายและดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป
สำหรับสถิติการตรวจยึดสินค้าละเมิดอนุสัญญาไซเตส (CITES) ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2559 ถึงปัจจุบันกรมศุลกากร สามารถจับกุมการลักลอบนำเข้า-ส่งออก-นำผ่าน สัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ รวมทั้งสิ้นจำนวน 46 คดี มูลค่าของกลางประมาณ 350 ล้านบาท