ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"จีสด้า" สรุปชิ้นส่วนจรวดตกที่โขงเจียม 1 สัปดาห์รู้ใครเจ้าของ

Logo Thai PBS
"จีสด้า" สรุปชิ้นส่วนจรวดตกที่โขงเจียม 1 สัปดาห์รู้ใครเจ้าของ
"จีสด้า" ส่งทีมตรวจสอบวัตถุปริศนาที่ตกในหมู่บ้าน อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี คาดเป็นชิ้นส่วนจรวดนำส่งดาวเทียม วันนี้เจอเพิ่มอีก 2 ชิ้น แต่ไม่ยืนยันว่าเป็นของใคร คาด 1 สัปดาห์รู้ผลหลังตรวจข้อมูล เพื่อหาผู้รับผิดชอบหากมีความเสียหาย

วันนี้ (16 พ.ย.2560) นายบุญชุบ บุ้งทอง ผู้อำนวยการสำนักปฏิบัติการดาวเทียม สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ จีสด้า พ.ต.ท.พงษ์พิเชษฐ์ นิลจันทร์ รองผู้กำกับการป้องกันปราบปราม สภ.โขงเจียม พร้อมเจ้าหน้าที่วิศวกรจีสด้า ตรวจสอบเศษโลหะที่ตกในพื้นที่ 4 หมู่บ้านต.นาโพธิ์กลาง อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี เมื่อวานนี้( 15 พ.ย.) เบื้องต้นพบรวม  12 ชิ้น มีความยาวตั้งแต่ 60 เซนติเมตร กว้าง 50 เซนติเมตร และวันนี้ยังพบใหม่อีก 2 ชิ้นมีความยาวถึง 6 เมตร

 

 

จากการตรวจสอบวัตถุที่พบ คาดว่าจะเป็นชิ้นส่วนของจรวดที่ใช้ส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจร ในชั้นอวกาศ โดยเป็นส่วนของตัวจรวด และถังบรรจุเชื้อเพลิง สำหรับการตกของจรวดลูกนี้ คาดว่ายังไม่ออกไปนอกโลก แต่อยู่ในระดับความสูงไม่น้อยกว่า 100 กิโลเมตร เมื่อตัวจรวดตกกลับลงมาด้วยความเร็ว จะเกิดแรงเสียดทานกับอากาศ ทำให้เกิดไฟลุกไหม้ และเกิดเสียงจากแรงกระแทกในรูปแบบของโซนิกบูม ทำให้เกิดเสียงดังตามที่ชาวบ้านได้ยิน ไม่ใช่เกิดจากการระเบิดบนท้องฟ้า แต่เกิดจากแรงกระแทกของวัตถุกับอากาศ ก่อนแตกกระจายออกเป็นชิ้นๆ 

 

 

นายบุญชุบ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่รู้ว่าเป็นจรวดใช้ส่งยานอวกาศของชาติใด ต้องตรวจสอบไปยังองค์การอวกาศ ที่จะมีบันทึกรายละเอียดของการส่งจรวดขึ้นสู่วงโคจรของชาติต่างๆ โดยจีสด้าประสานขอทราบรายละเอียด ถึงทิศทางและวันเวลาที่มีการนำจรวดขึ้นสู่วงโคจรไปแล้ว อีก 1 สัปดาห์ น่าจะรู้ผล ส่วนความเสียหายหากเกิดขึ้นเจ้าของจรวดก็ต้องรับผิดชอบ เพราะเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศขององค์การสหประชาชาติ

ทั้งนี้ แนะนำว่าถ้าพบเห็นวัตถุสิ่งแปลกปลอมตกลงมาจากชั้นบรรยากาศของโลก ไม่ควรเก็บไว้เอง ควรนำส่งเจ้าหน้าที่ใช้ตรวจหาแหล่งที่มาของวัตถุนั้น เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาเส้นทางของจรวดต่อไป

สำหรับข้อสงสัยสิ่งที่บรรจุกับตัวจรวดจะมีกัมมันตรังสีหรือไม่เชื่อว่าไม่มี เพราะเชื้อเพลิงของจรวดที่เป็นไฮโดรเจนและออกซิเจนเหลว และยังระบุไม่ได้เป็นจรวดใช้ส่งยานอวกาศของชาติใด ต้องตรวจสอบไปยังองค์การสหประชาชาติที่จะมีบันทึกรายละเอียดของการส่งจรวดขึ้นสู่วงโคจรของชาติต่าง ๆ

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง