จากกรณีจเรตำรวจแห่งชาติ มีคำสั่งย้ายผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรป่าตอง จ.ภูเก็ต พร้อมพวกอีก 10 นาย ไปช่วยราชการ หลังพบข้อมูลว่า อาจมีส่วนพัวพันกับการเรียกรับผลประโยชน์ นำมาสู่การพูดคุยในเวทีเสวนาวิชาการ หัวข้อ "ประชาชนสุดทน แฉขบวนการส่วยตำรวจไทย หายนะภัยของของชาติและประชาชน" ที่จัดขึ้นโดยเครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ โดยมีการให้ข้อมูลว่า มีธุรกิจหลายอย่างใน จ.ภูเก็ต ที่ต้องพึ่งพาตำรวจ และมีการจ่ายสินบนอยู่จริง
ตัวแทนผู้ประกอบการในจังหวัดภูเก็ต ที่ร่วมในเวทีเสวนาทางวิชาการครั้งนี้ ยืนยันว่า ในพื้นที่ จ.ภูเก็ต มีการจ่ายเงินให้ตำรวจ เพื่ออำนวยความสะดวกในธุรกิจหลายประเภท
ตัวแทนผู้ประกอบการในจังหวัดภูเก็ตคนหนึ่ง ให้ข้อมูลด้วยว่า ธุรกิจ 3 ประเภทหลัก ที่ต้องจ่ายส่วย คือ ธุรกิจสถานบันเทิง , ธุรกิจที่ต้องใช้แรงงานข้ามชาติและธุรกิจสินค้าผิดกฎหมาย ซึ่งการจ่ายส่วยก็เพื่ออำนวยความสะดวกให้กระทำผิดทั้งการเปิดเกินเวลา ใช้แรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย และขายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ตามแหล่งท่องเที่ยว สำหรับส่วยที่จ่ายส่วนใหญ่จ่ายให้ตำรวจท้องที่มากที่สุด แต่ก็ยังมีตำรวจและเจ้าหน้าที่จากหน่วยอื่นๆ ได้รับส่วยด้วยเช่นกัน
ผู้ประกอบการรายนี้ ยังให้ข้อมูลอีกว่า การจ่ายส่วย เชื่อมโยงไปกับการซื้อขายตำแหน่ง และทำให้การเรียกรับสินบนมากขึ้น จนผู้ประกอบการแบกรับภาระไม่ไหว จนมีการออกมาเปิดเผยข้อมูล
พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร ที่ปรึกษาอนุกรรมาธิการปฏิรูปตำรวจ สภาปฏิรูปแห่งชาติ 1 ในผู้ร่วมเสวนาครั้งนี้ ยอมรับว่า ปัญหาเรียกรับสินบนยังมีอยู่มากและหลายรูปแบบ อยากให้ประชาชนออกมาเป็นเผยข้อมูล เพราะเชื่อว่าแต่ละพื้นที่ต้องมีปัญหานี้ แต่ไม่มีใครออกมาเปิดเผย ซึ่งหากแต่ละพื้นที่ทำตามก็อาจจะทำให้ปัญหานี้ลดน้อยลง
สำหรับกรณีส่วยตำรวจในจังหวัดภูเก็ต สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้สั่งการให้สอบสวน และก่อนหน้านี้ พล.ต.อ.สุชาติ ธีระสวัสดิ์ รักษาราชการ จเรตำรวจแห่งชาติ ได้มีคำสั่งย้าย ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรป่าตอง จ.ภูเก็ต พร้อมพวกรวม 10 นาย ไปช่วยราชการโดยให้ขาดจากตำแหน่งเดิม นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลว่า มีตำรวจถูกคำสั่งย้ายจากพื้นที่ต่างๆ ใน จ.ภูเก็ต แล้วรวมกว่า 20 นาย