พล.อ.ธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ระบุว่า ปีนี้ครบรอบ 60 ปีของโรงเรียนเตรียมทหาร ซึ่งก็ได้มีการพัฒนามาตามลำดับ รวมทั้งเรื่องหลักสูตรและระเบียบวินัยที่เป็นกรอบในการพัฒนาเด็กจากพลเรือน เข้าไปสู่การเป็นทหารและเป็นผู้นำกองทัพในอนาคต
ไม่ปฏิเสธว่าการฝึกของโรงเรียนเตรียมทหารไม่อันตรายถึงชีวิต เน้นย้ำระบบนักเรียนปกครอง พี่ดูแลน้องยังจำเป็น ตัดขาดไม่ได้ แต่การมอบอำนาจสอดส่องวินัยน้องใหม่ รวมถึงอำนาจลงโทษที่เรียกกันว่า "ซ่อม" เหมาะสมหรือไม่ที่ภาระนี้อยู่ในมือนักเรียนเตรียมทหารที่วัยวุฒิเทียบเท่านักเรียนมัธยมปลาย
หากย้อนกลับไป 10 ปีก่อนจะพบกรณีการเสียชีวิตของ นตท.กรัณฑ์ อรชร ชั้นปี 2 ต้องดื่มน้ำ 40 ลิตรตามคำสั่งของรุ่นพี่ ซึ่งเป็นการลงโทษเพราะหลับระหว่างเข้าเวร โดย นตท.กรัณฑ์ อรชร เกิดภาวะน้ำเป็นพิษ ระบบร่างกายล้มเหลวและเสียชีวิต เป็นไปได้หรือไม่ที่เหตุการณ์นี้จะสะท้อนวุฒิภาวะของนักเรียนปกครอง
พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ระบุว่า เป็นการปกครองในลักษณะดูแลเรื่องของวินัยเป็นหลัก การธำรงวินัยและการรักษาวินัย ส่วนการลงทัณฑ์นั้นก็อยู่ในกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้และมีระเบียบเรื่องของการลงทัณฑ์อยู่แล้ว ซึ่งทั้งหมดจะอยู่ในกรอบและอยู่ในการกำกับของนายทหารปกครองด้วย
จริงๆ การซ่อมเป็นเรื่องของการปรับสภาพร่างกายจากพลเรือน โดยค่อยๆ ปรับสภาพร่างกายให้มีสมรรถนะร่างกายที่แข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ เช่น การวิ่ง การยึดพื้น การลุกนั่ง จะค่อยๆปรับไป ในขณะที่การปรับเราก็ใส่ในเรื่องของวินัยแบบธรรมเนียมทหารลงไปด้วย เพื่อให้ซึมซับความคิดของความเป็นทหารที่จะต้องช่วยกันรักษาวินัย รักษาแบบธรรมเนียมที่ดีของทางทหารไว้.. โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าว
เหตุการณ์ของ นตท.กรัณฑ์ อรชร ถูกนำไปวิพากษ์โดยนายตำรวจคนหนึ่งที่เคยผ่านรั้วโรงเรียนเตรียมทหาร เนื้อหาบางส่วนระบุถึงนักเรียนปกครองอาจไม่เคยได้รับการอบรม ว่าการสั่งลงโทษหรือออกกำลังกายในระดับไหนที่มนุษย์สามารถรับได้ โดยเฉพาะขีดจำกัดของนักเรียนเตรียมทหารรุ่นน้องวัยมัธยมปลาย และการมอบสิทธิ์ลงโทษนี้เองที่ถูกมองว่าเป็นจุดอ่อนของโรงเรียนเตรียมทหาร
มีข้อถกเถียงไม่น้อยว่าคำสั่งลงโทษควรเป็นท่าออกกำลังกายมาตรฐานเท่านั้นหรือไม่ เพราะกรณีล่าสุดของ นตท.ภคพงศ์ ตัญกาญจน์ ที่ระบุว่าเคยถูกสั่งให้ทำท่าคล้ายปักหัวลงตะแกรงเหล็กในห้องน้ำชายจนเป็นลม