วันนี้ (24 พ.ย.2560) เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ ไทยแพน เปิดเผยผลการเฝ้าระวังผักและผลไม้ต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 สำหรับปีนี้ผลการเก็บตัวอย่างผักและผลไม้ 150 ตัวอย่าง ครอบคลุม 9 ตลาดในจังหวัดเชียงใหม่ ขอนแก่น ปทุมธานี ราชบุรี และสงขลา รวมทั้งห้างค้าปลีกยักษ์ใหญ่ 3 แห่ง และซูเปอร์มาร์เก็ต 4 แห่ง
ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เปิดเผยผลการศึกษาว่า โดยภาพรวมมีสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐาน ได้แก่ ถั่วฝักยาว คะน้า กะเพรา พริกแดง พบการตกค้างเกินค่ามาตรฐานสูงที่สุดตามลำดับ ซึ่งถั่วฝักยาวและคะน้า มีสารเคมีตกค้างเฉลี่ย 15-18 ชนิด และเป็นสารเคมีชนิดที่ประเทศไทยแบน และไม่อนุญาตให้ขึ้นทะเบียนแล้ว 6 ปี ข้อมูลนี้สะท้อนให้เห็นว่ายังมีการลักลอบนำเข้าจำหน่าย และใช้สารเคมีอันตรายประเภทนี้ในกระบวนการผลิต ส่วนกะหล่ำปลีบางตัวอย่างไม่พบสารเคมีตกค้าง แต่บางตัวอย่างพบแต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน
ส่วนผลไม้ที่พบการตกค้างเกินมาตรฐานสูงที่สุดจากกลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ องุ่น แก้วมังกร มะละกอ กล้วยหอม ส่วนมะพร้าวและสัปะรด ไม่พบสารเคมีตกค้าง
ส่วนผักพื้นบ้าน ได้แก่ ใบบัวบก ตำลึง ชะอม พบสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐานเช่นเดียวกัน ซึ่งผักพื้นบ้านเป็นผักปลูกตามฤดูกาล แต่การตรวจพบการตกค้างครั้งนี้สะท้อนว่ากระบวนการผลิตของผักพื้นบ้าน ได้มีการเปลี่ยนวิถีการปลูกเพื่อรองรับตลาดมากขึ้น และหันมาพึ่งพาสารเคมีอย่างเข้มข้น
ส่วนการตรวจหาสารกำจัดวัชพืชที่ตกค้างในผักผลไม้ ผลการตรวจพบยาฆ่าหญ้าพาราควอตตกค้างในระดับเกินมาตรฐานสูงถึง 38 ตัวอย่าง จาก 76 ตัวอย่าง ที่ส่งตรวจ รองลงมาคือ ไกลโฟเซต ตรวจพบ 6 ตัวอย่าง และอะทราซีน 4 ตัวอย่าง
ยาฆ่าหญ้าพาราควอต เป็นสารเคมีอันตรายที่ทางเครือข่ายฯ เสนอให้ไม่ต่อทะเบียน แต่กรมวิชาการเกษตรได้ขึ้นทะเบียนต่ออีก 6 ปี ทางไทยแพนจึงเตรียมฟ้องร้องกรมวิชาการเกษตรต่อไป