ดร.นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล ผู้อำนวยการศูนย์ชีววิทยาเชิงระบบ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ชีววิทยาเชิงระบบ คือแนวทางการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบต่างๆ ของสิ่งมีชีวิตทุกองค์ประกอบจนเรียกได้ว่าสามารถมองเห็นถึงระบบกลไกแห่งชีวิตที่คอยเกื้อหนุนการทำงานให้ร่างกายของพืช สัตว์ และมนุษย์ดำรงอยู่ได้ เมื่อใดที่ระบบของชีวิตเกิดข้อผิดพลาด ชีววิทยาเชิงระบบจะเข้ามาช่วยวินิจฉัยและซ่อมแซมระบบนั้นให้กลับมาทำงานได้ดีดังเดิมอย่างตรงจุดและไม่พลาดเป้า
ศูนย์วิจัยเพื่อความเป็นเลิศชีววิทยาเชิงระบบ จึงได้รวบรวมนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำและเครื่องมือที่ทันสมัย เพื่อผลักดันและยกระดับวงการวิทยาศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขของไทยให้ก้าวหน้า ด้วยศาสตร์แห่งชีววิทยาเชิงระบบ ซึ่งเป็นศาสตร์สหสาขาวิชาที่ต้องอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญด้านอณูชีววิทยา วิทยาศาสตร์การแพทย์ คณิตศาสตร์ วิทยาการคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ ศึกษาระบบความสัมพันธ์ของแต่ละภาคส่วนภายในเซลล์ ซึ่งเป็นหน่วยย่อยของชีวิต เพื่อใช้วินิจฉัย รักษา ฟื้นฟู ป้องกัน และส่งเสริมคุณภาพชีวิตอย่างตรงจุดให้เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย
“ถอดรหัสพันธุกรรม” กุญแจสำคัญไขโรคของมนุษย์
ผอ.ศูนย์ชีววิทยาเชิงระบบ กล่าวว่า มนุษย์ทุกคนมีรหัสพันธุกรรมที่มีตัวอักษร 4 ตัวคือ A C T G เรียงต่อกันด้วยความยาว 3,000 ล้านตัว แต่มีจุดที่แต่ละคนจะมีตัวอักษรต่างกันเพียงตำแหน่งเดียวอยู่ถึง 3 ล้านจุด ซึ่งความแตกต่างที่เกิดขึ้นในประชากรมนุษย์นี้สามารถนำมาหาความสัมพันธ์กับลักษณะต่างๆ ที่แสดงออกมาให้เห็นภายนอก รวมถึงโรคภัยไข้เจ็บและความผิดปกติภายในร่างกาย เพื่อทำนายโอกาสที่จะเป็นโรคต่างๆ เมื่อได้รหัสพันธุกรรมแล้วจำเป็นต้องมีการเปรียบเทียบฐานข้อมูลเพื่อวินิจฉัยโรค แต่ในปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีฐานข้อมูลรหัสพันธุกรรมเป็นของตนเอง เมื่อมีการถอดรหัสพันธุกรรม จึงต้องนำข้อมูลไปเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลของสหรัฐฯ แต่พันธุกรรมมีความแตกต่างกันในเรื่องของเชื้อชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศชีววิทยาเชิงระบบ จึงมุ่งมั่นสร้างฐานข้อมูลรหัสพันธุกรรมของคนไทย ที่สามารถบอกความเสี่ยงจากโรคต่างๆ ได้ เพื่อเป็นแนวทางในการป้องกันและรักษาคนไทยอย่างตรงจุดมากขึ้นและไม่ผิดพลาดอีกต่อไป โดยมีประเทศที่ใช้วิธีการรักษาผู้ป่วยจากการถอดรหัสพันธุกรรม เช่น สหรัฐฯ การ์ตา จีน
มะเร็งหายขาดได้! ด้วยการใช้ยาให้ถูกต้อง
ดร.พิริยะ วงศ์คงคาเทพ นักวิจัยวัคซีนต้านมะเร็ง ศูนย์ความเป็นเลิศชีววิทยาเชิงระบบ กล่าวว่า ทุก 1 ใน 3 คนมีโอกาสเป็นโรคมะเร็ง โดยที่ร้อยละ 50 ของผู้ป่วยมะเร็งมีโอกาสเสียชีวิต เพราะการรักษามะเร็งไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากภายในก้อนมะเร็งเดียวกันสามารถพบเซลล์ที่มีการกลายพันธุ์ในรูปแบบที่แตกต่างกันได้ ทำให้การรักษาด้วยเคมีบำบัดไม่ได้ผล การฉายแสงเองก็มีข้อจำกัดที่ไม่สามารถทะลุทะลวงไปจัดการเซลล์มะเร็งที่อยู่ลึกได้ นักวิจัยจึงศึกษาจนรู้จักเซลล์มะเร็งลึกไปถึงแก่นด้วยชีววิทยาเชิงระบบ โดยพัฒนายาไบโอโลจิก ขึ้นเพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งชนิดต่างๆ
การรักษาด้วยชีววิทยาเชิงระบบ เป็นการรักษาโรคมะเร็งแบบใหม่ที่มุ่งเป้าไปที่การทำความรู้จักเซลล์มะเร็งทุกชนิดในร่างกายอย่างลึกซึ้ง จนสามารถผลิตยาที่มีความจำเพาะต่อเซลล์มะเร็งชนิดนั้นๆ ในระดับบุคคล นอกจากนี้ยังใช้โปรตีนไปเสริมภูมิคุ้มกันและยับยั้งไม่ให้เซลล์มะเร็งเล็ดลอดไปจากเซลล์เม็ดเลือดขาวได้ แต่การรักษาด้วยวิธีดังกล่าว มีเพียงคนจำนวนหยิบมือหนึ่งของประเทศเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงได้ การผลิตยาในรูปแบบใหม่นี้จึงเป็นอนาคตของคนไทยที่เกิดขึ้นได้ในระดับอุตสาหกรรม
การสร้างวัคซีนต้านมะเร็งเป็นวิธีการรักษาด้วยชีววิทยาเชิงระบบอีกวิธีหนึ่งที่ควรรักษาควบคู่กันกับยาไบโอโลจิก เพื่อประสิทธิภาพในการรักษาที่ได้ผลสูงสุด โดยการพัฒนาวัคซีนนี้เริ่มจากการตรวจหาการกลายพันธุ์ หรือความผิดปกติของชิ้นเนื้อที่เกิดเป็นเนื้อร้ายหรือเซลล์มะเร็ง โดยการตัดเนื้อร้ายบางส่วนของผู้ป่วยมาเพื่อวิเคราะห์หาชนิดของเซลล์มะเร็งทุกชนิด เนื่องจาก 1 ก้อนเนื้อมีมะเร็งได้หลายชนิด ต่อมา คือ การสร้างแบบจำลองวัคซีนเพื่อนำไปใช้ทดลอง ซึ่งปัจจุบันทางทีมวิจัยอยู่ในขั้นตอนนี้จากการศึกษาวิจัยมะเร็งลำไส้และมะเร็งรังไข่ หากวัคซีนมีการทดลองว่าใช้ได้ผล ก็จะมีการผลิตวัคซีนเฉพาะบุคคล แล้วนำไปทดสอบกับคนไข้ในขั้นตอนต่อไป คาดว่าไม่เกิน 5 ปี จะสามารถทราบผลการวิจัยที่ชัดเจนว่าสามารถรักษาได้อย่างตรงจุดและหายขาดได้หรือไม่ แต่คาดว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะทำสำเร็จ ดร.พิริยะ ระบุ
จุลินทรีย์ ทำนาย – รักษาโรค
ดร.สัญชัย พยุงภร นักวิจัยด้านจุลินทรีย์ กล่าวว่า มนุษย์แต่ละคนมีเซลล์ของจุลินทรีย์ที่แตกต่างกันมาก ร้อยละ 90 ยิ่งไปกว่านั้น กว่า 9 ใน 10 ส่วนของเซลล์ในร่างกายเป็นเซลล์ของจุลินทรีย์ ทั้งแบคทีเรีย เชื้อรา หรือไวรัส ซึ่งจุลินทรีย์เหล่านี้สามารถก่อโรคหรือสร้างคุณประโยชน์แก่มนุษย์ได้ทั้งสิ้น ชีววิทยาเชิงระบบจึงศึกษาวิจัยเกี่ยวกับจุลินทรีย์ต่าง ๆ หรือไมโครไบโอมในคนสุขภาพดี เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับผู้ป่วย ทั้งจำนวน ชนิดของเชื้อ โดยนำมาวิเคราะห์ร่วมกับพฤติกรรมการรับยา อาหารการกิน รหัสพันธุกรรม และสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ร่วมด้วย เพื่อหาทางป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพผ่านการควบคุมปริมาณและชนิดของจุลินทรีย์
เซลล์ของจุลินทรีย์หากอยู่ในร่างกายได้ถูกที่ ถูกชนิด และอยู่ในปริมาณที่เหมาะสม จะส่งผลให้ร่างกายเป็นอย่างมาก โดยในอนาคตจะมีการนำแบคทีเรียกลุ่มดีเข้าไปสร้างสมดุลกับแบคทีเรียกลุ่มเลวเพื่อรักษาอาการลำไส้อักเสบ นอกจากด้านการรักษาโรคแล้ว คนญี่ปุ่นมีอายุยืนยาวเนื่องจากมีไมโครไอโอมที่สมดุล ซึ่งปัจจัยสำคัญมาจากอาหาร ดังนั้น ศูนย์ความเป็นเลิศชีววิทยาเชิงระบบจะมีการศึกษาเกี่ยวกับอาหารหมักดองในประเทศไทยว่ามีเซลล์จุลินทรีย์ที่ดีและเลวปริมาณเท่าใด แล้วอาจมีการพัฒนาสูตรหมักดองอาหารแบบใหม่ที่ใส่จุลินทรีย์ดีเข้าไปเพิ่มความสมดุลให้กับอาหาร ส่งผลให้ร่างกายได้รับเชื้อจุลินทรีย์ที่ไม่เป็นอันตราย ซึ่งสามารถต่อยอดนวัตกรรมทางการแพทย์และในเชิงธุรกิจได้ในอนาคต
เรื่อง : ผานิต ฆาตนาค ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส