ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

วิเคราะห์กระแสเวทีขาอ่อนโลก หลังการประกวดนางงามจักรวาลครั้งที่ 66

Logo Thai PBS
วิเคราะห์กระแสเวทีขาอ่อนโลก หลังการประกวดนางงามจักรวาลครั้งที่ 66
มีหลายกระแสเกิดขึ้นหลังการประกวดมิสยูนิเวิร์สปีนี้จบลง โดยคำถามบนเวทีขาอ่อนที่กองประกวดหยิบจับมาล้วนมาจากกระแสในโซเชียลมีเดียทั้งสิ้น สะท้อนภาพลักษณ์เวทีนางงามยุคใหม่ที่อิงกับโลกออนไลน์เป็นหลัก และอาจมีผลกับผู้คว้ามงกุฏในที่สุด

"ทั้งที่ทำงานประเภทเดียวกันและชั่วโมงเท่ากัน หากผู้หญิงกลับได้ค่าแรงเพียงร้อยละ 75 เมื่อเทียบกับผู้ชาย สำหรับฉันนี่ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง ทั้งหญิงชายควรได้รับค่าตอบแทนอย่างเท่าเทียม" คำตอบที่เข้ากับบริบทสังคมโลกปัจจุบัน ทั้งเรื่องความเท่าเทียมและประเด็นเกี่ยวกับสตรี ส่งให้ "Demi Leigh Nel Peters" สาวงามจากแอฟริกาใต้ คว้ามงกุฏนางงามจักรวาลเป็นคนที่ 2 ของชาติ หลังรอคอยมานานถึง 39 ปี

หนึ่งในประเด็นคำถามที่มีการวิเคราะห์ต่อยอดหลังจบการประกวด เช่นเดียวกับคำถามหินของนางงามไทยเกี่ยวกับการขับเคลื่อนทางสังคม จนมีการวิพากษ์วิจารณ์กันไป ไม่เพียงเป็นอีกครั้งที่กองประกวดเลือกคำถามทดสอบไหวพริบโดยอิงจากสถานการณ์ในแต่ละชาติ เช่น นางงามโคลอมเบีย ที่ต้องตอบเรื่องสถานการณ์ความรุนแรงในประเทศ หากความน่าสนใจของปีนี้ คือคำถามทั้งหมดล้วนมาจากโลกโซเชียลทั้งสิ้น ทั้งรอบ 5 คนสุดท้าย ที่เป็นหัวข้อคำถามจากโพลล์วัดความเห็นของกองประกวด

และคำถามรอบ 3 คนสุดท้ายจากแฟนนางงามทางทวิตเตอร์ ตอกย้ำว่ากองประกวดยุคใหม่ให้ความสำคัญของโลกโซเชียลแค่ไหน ซึ่งนี่ยังเชื่อมโยงถึงผู้คว้ามงกุฏในปีนี้ ที่ฉลาดใช้โลกโซเชียลสร้างแต้มต่อให้ตัวเอง ผ่านภาพนิ่ง และคลิปวิดีโอต่างๆ ตลอดการเก็บตัว และเข้ามาสู่พื้นที่ข่าว จนกลายเป็นตัวเต็งลุ้นมงกุฏใหญ่เช่นเดียวกับนางงามไทย

กระแสนางงามในบ้านเราปีนี้สูงมากเป็นประวัติการณ์ มีคนดังออกตัวแรงทุ่มเชียร์หมดหน้าตัก จนเป็นกระแสฟีเวอร์ทางอินเทอร์เน็ต ทำให้การจับกลุ่มเชียร์ประจำปีของแฟนนางงามปีนี้ยิ่งคึกคัก ถึงขั้นมีการเปลี่ยนสถานที่การรวมตัวก่อนงานเริ่มเพียงไม่กี่วัน เพื่อรองรับจำนวนแฟนนางงามกว่า 100 คน ส่วนใหญ่ปักหลักเชียร์ตั้งแต่มารีญา พูลเลิศลาภ ลงประกวดในบ้าน และช่วยกันโหวตผ่านโลกออนไลน์ระหว่างเก็บตัว จนยกให้ปีนี้เป็นปรากฏการณ์การเชียร์นางงาม หวังเป็นสัญญาณถึงกองประกวดหลักว่าแฟนนางงามไทยพร้อมสนับสนุนสายสะพายประเทศ

การประกวดมิสยูนิเวิร์สปีนี้ ยังได้เห็นการตอกย้ำเรื่องความงามที่หลากหลาย เมื่อกองประกวดเปลี่ยนรูปแบบการเข้ารอบ 16 คนสุดท้าย และคัดเลือกสาวงามตามแต่ละทวีป ได้แก่ ยุโรป อเมริกาเหนือกับใต้ และแอฟริกากับเอเชีย และน่าสังเกตว่าใน 3 ปีมานี้ ผู้ครอบครองมงกุฏล้วนมาจากต่างทวีป ไล่มาจากปี 2015 ที่สาวงามจากเอเชีย เปีย อลอนโซ่ คว้ามงกุฏ, ปี 2016 นางงามฝรั่งเศสพามงกุฏกลับคืนทวีปยุโรป จนมาปีนี้ที่นางงามจากแอฟริกาใต้คว้ามงกุฏ แง่หนึ่งเพื่อให้บริบทของเวทีประกวดเข้ากับยุคสมัยใหม่ และอยู่ในการพูดถึง ท่ามกลางการแข่งขันของธุรกิจการถ่ายทอดสดและความงามทุกวันนี้

 

อ่านข่าวเพิ่มเติม
"มารีญา" กับตำแหน่ง 5 คนสุดท้ายเวทีมิสยูนิเวิร์ส

http://news.thaipbs.or.th/content/268057


"มารีญา"ขอโทษคนไทยที่ทำให้ผิดหวัง

http://news.thaipbs.or.th/content/268047


"แอฟริกาใต้" คว้ามงกุฎมิสยูนิเวิร์สคนที่ 66

http://news.thaipbs.or.th/content/268039


สาวงามเอเชีย-อาเซียน ขั้วอำนาจใหม่วงการขาอ่อนโลก http://news.thaipbs.or.th/content/268033


สื่อเก่า vs สื่อใหม่ บทบาทที่เปลี่ยนไปของการรายงานข่าวนางงาม http://news.thaipbs.or.th/content/268002


ชวนคนไทยโหวต "มารีญา" เข้ารอบ Semifinal เวทีมิสยูนิเวิร์ส 2017 http://news.thaipbs.or.th/content/267842


ชุดประจำชาติไทย "เมขลาล่อแก้ว" เรียกเสียงชื่นชมบนเวทีมิสยูนิเวิร์ส http://news.thaipbs.or.th/content/267838

 

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง