ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"กรมปศุสัตว์" เผยไม่พบเชื้อแอนแทรกซ์ระบาดปศุสัตว์จ.ตาก

สังคม
29 พ.ย. 60
10:47
861
Logo Thai PBS
"กรมปศุสัตว์" เผยไม่พบเชื้อแอนแทรกซ์ระบาดปศุสัตว์จ.ตาก
รองอธิบดีกรมปศุสัตว์เผยไม่พบเชื้อแอนแทรกซ์ในปศุสัตว์ที่อยู่ในจุดกักกัน ส่วนผลตรวจผู้ต้องสงสัยติดเชื้อใน อ.แม่สอด จ.ตาก หลังลักลอบชำแหละเนื้อแพะจากประเทศเพื่อนบ้าน พบว่าติดเชื้อแอนแทรกซ์จริง ถือเป็นการพบผู้ติดเชื้อครั้งแรกในรอบ 17 ปีในประเทศไทย

วันนี้ (29 พ.ย.2560) นายจิรักดิ์ พิพัฒนพงศ์โสภณ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ ทางกรมได้ชะลอการนำเข้าแพะจากชายแดนไทย-เมียนมา เฉพาะที่จุด ต.มหาวัน เพราะเกรงจะมีการนำเข้าอย่างไม่ถูกต้อง แต่จากการตรวจสอบแพะ 700 ตัวที่จุดกักกันสัตว์นำเข้าบ้านแม่โกนเกน ไม่พบเชื้อแอนแทรกซ์ และปศุสัตว์ยังอยู่ในสภาพปกติดี

ทั้งนี้ การตรวจสอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งจากกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เกิดขึ้นหลังชาวบ้านในพื้นที่ ต.มหาวัน อ.แม่สอด จ.ตาก ลักลอบชำแหละแพะที่นำข้ามฝั่งมาจากประเทศเพื่อนบ้าน ก่อนป่วยด้วยอาการคล้ายติดเชื้อแอนแทรกซ์

โดยเมื่อวานนี้ (28 พ.ย.) นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยผลการตรวจวิเคราะห์เชื้อผู้ป่วยต้องสงสัย 2 คน ยืนยันชัดเจนว่ามีติดเชื้อแอนแทรกซ์แน่นอน 1 คน แต่อีก 1 คนที่ผลตรวจเป็นลบ เชื่อว่าติดเชื้อแอนแทรกซ์เช่นกัน เนื่องจากมีลักษณะอาการแผลพุพอง และมีจุดดำกลางแผลเหมือนกัน แต่ที่ตรวจไม่พบเชื้อ อาจเป็นเพราะได้รับยาปฏิชีวนะไปก่อนหน้านี้แล้ว

สำหรับอาการของผู้ป่วยทั้ง 2 คน ถือว่าดีขึ้นแล้ว ซึ่งก่อนหน้านั้นอาจมีอาการเหมือนไข้หวัดใหญ่ คือมีไข้สูง คลื่นไส้อาเจียน ปวดต่อมน้ำเหลือง แต่ขณะนี้ไม่น่ามีปัญหาแล้ว ซึ่งจากการให้ยาปฏิชีวนะก็สามารถหายขาดได้ โดยต้องให้ยาเป็นเวลา 60 วัน

ส่วนการสอบสวนโรค มีการส่งทีมเคลื่อนที่เร็วลงไปในพื้นที่ พบผู้เกี่ยวข้องประมาณ 247 คน จึงได้ให้ยาปฏิชีวนะป้องกันเป็นเวลา 60 วันเช่นกัน โดยไม่จำเป็นต้องมีการกักตัว เพราะไม่ใช่โรคที่มีการติดต่อจากคนสู่คนเหมือนไข้หวัดใหญ่ ยกเว้นการไปสัมผัสแผลหรือสารคัดหลั่ง และตัวเองมีแผล จึงอาจทำให้ติดเชื้อได้

สำหรับประเทศไทยพบผู้ป่วยติดเชื้อแอนแทรกซ์ครั้งสุดท้ายเมื่อ 17 ปีก่อน และจากนั้นไม่พบอีกเลย แต่ในกรณีนี้เป็นการนำสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้านมาชำแหละ และแบ่งกันรับประทาน โดยเชื้อแอนแทรกซ์ส่วนใหญ่มักพบในแพะ แกะ วัว และควาย ซึ่งหากพบสัตว์เหล่านี้ตายผิดธรรมชาติให้รีบแจ้งปศุสัตว์ ส่วนวิธีทำลายที่ดีที่สุด คือการเผา ไม่ควรฝังลงพื้นดิน เพราะเชื้อสามารถอยู่ได้เป็นสิบๆ ปี และไม่ควรนำเนื้อสัตว์เหล่านี้มารับประทานเด็ดขาด แม้จะทำให้สุกก็ตาม

 

อ่านข่าวเพิ่มเติม

สธ.สรุปพบ "โรคแอนแทรกซ์" จากเนื้อแพะ-เฝ้าระวังกว่า 200 คน http://news.thaipbs.or.th/content/268086

 

กรมควบคุมโรคเฝ้าระวังแอนแทรกซ์ หลังพบผู้ต้องสงสัยติดเชื้อ จ.ตาก http://news.thaipbs.or.th/content/268072


ผอ.รพ.แม่สอด ไม่ยืนยันชาวบ้านกินเนื้อแพะป่วยเป็น "โรคแอนแทรกซ์" http://news.thaipbs.or.th/content/268027


สธ.รอผลตรวจแล็บ ชาวบ้าน จ.ตาก ต้องสงสัยป่วยโรคแอนแทรกซ์ http://news.thaipbs.or.th/content/268022


ชาวบ้านป่วยเป็นโรคแอนแทรกซ์ หลังรับประทานเนื้อแพะจากประเทศเพื่อนบ้าน http://news.thaipbs.or.th/content/268009

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง