การก่อสร้างถนนเชื่อมระหว่าง ต.โพธิ์เสด็จ ต.มะม่วงสองต้น อ.เมือง ไปยัง ต.นาสาร ต.นาพรุ อ.พระพรหม จ.นครศรีธรรมราช ความยาว กว่า 6 กม.ของกรมทางหลวงชนบทหมายเลข 3109 รวมถึงทุ่งแก้มลิงที่เคยเก็บกักน้ำถูกแปรสภาพเป็นบ้านจัดสรร ถูกมองว่าเป็นสาเหตุหนึ่งทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมพื้นที่เขตเมือง
ข้อสังเกตสำหรับถนนที่ถูกสร้างโดยกรมทางหลวงชนบทหมายเลข 3109 เชื่อมระหว่าง ต.โพธิ์เสด็จ กับ ต.มะม่วงสองต้น อ.เมือง ไปยัง ต.นาสาร ต.นาพรุ อ.พระพรหม จ.นครศรีธรรมราช ความยาว กว่า 6 กม.เส้นนี้ เพิ่งสร้างเสร็จได้ไม่นาน ไม่ใช่เฉพาะปริมาณฝนตกสะสมในระดับสูง ช่วงหน้ามรสุมตะวันออกเฉียงใต้ ที่ทำให้ระดับน้ำในลำคลองหลายสายเพิ่มสูงขึ้น น้ำป่าที่ไหลมาจากแนวเทือกเขาหลวงตั้งอยู่ตอนกลางของจังหวัด ซึ่งเห็นได้จากภาพนี้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมในตัวเมืองนครศรีธรรมราช
สภาพถนนจากมุมสูง ที่ทอดตัวยาวตลอดแนวเหนือใต้ ในพื้นที่ลุ่มต่ำชี้ให้เห็นว่า นี่อาจเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาการระบายน้ำจากแนวเทือกเขาไปยังทิศตะวันออกถนนเส้นนี้ ถูกสร้างคู่ขนานไปกับทางรถไฟซึ่งอีกฟากนั่นคือทุ่งมะม่วงสองต้น ต.มะม่วงสองต้น เดิมคือทุ่งนาซึ่งเป็นแก้มลิงขนาดใหญ่ที่รองรับน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก
แต่ปัจจุบันการพัฒนาถมที่ดินท้องนาให้สูงขึ้นการสร้างถนนขวางทางน้ำกำลังเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่ง สำหรับปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก เช่นเดียวทุ่งรับน้ำที่อยู่ในแนวเดียวกันคือทุ่งปรัง ทุ่งโพธิ์เสด็จ ทุ่งสะพานยาว ล้วนแต่เป็นทุ่งแก้มลิงสำคัญของเมืองนครศรีธรรมราช มาแต่โบราณถูกปรับสภาพถมพื้นที่กลายเป็นหมู่บ้านจัดสรร และอาคารบ้านเรือนจนเกือบเต็มพื้นที่ แหล่งรองรับน้ำในช่วงน้ำหลากจึงหายไป
ทุ่งมะม่วงสองต้น ณ จุดนี้ เป็นแก้มลิงสุดท้ายที่อยู่ในตัวเมืองนครศรีธรรมราช เช่นเดียวกับอีกหลายจังหวัดการพัฒนากำลังรุกคืบในทุ่งแห่งนี้ นอกจากถนนสาย 3109 ถนนพุทธภูมิ ที่ถูกสร้างขวางขนาบกับลำรางชลประทาน เป็นถนนอีกเส้นทอดกลางทุ่ง ยิ่งทำให้การหลากของน้ำไม่สามารถระบายลงสู่คลองคูเมืองฝั่งตะวันตกของถนนศรีธรรมราชได้ การค้างทุ่งของน้ำจึงยิ่งยาวนานการระบายเป็นไปอย่างล่าช้า