ทีมข่าวไทยพีบีเอสพบเรือของชาวบังคลาเทศที่ถูกเจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดหมองดอว์ รัฐยะไข่ ประเทศเมียนมายึดได้ระหว่างพยายามหลบหนีเข้ามาสวมรอยเป็นผู้ลี้ภัยในค่ายผู้พักพิงบริเวณเมืองชายแดนของรัฐยะไข่ ตามคำชักชวนของกลุ่มขบวนการค้ามนุษย์ที่มักใช้ค่ายผู้พักพิงเป็นสถานที่นัดแนะชาวโรฮิงญา และบังคลาเทศก่อนขนย้ายไปยังประเทศอื่น นอกจากนี้ยังพบเรือที่ใช้ขนย้ายชาวโรฮิงญากว่า 800 คนเมื่อสองสับดาห์ที่ผ่านมาซึ่งถูกทางการเมียนมายึดได้ระหว่างพยายามขนย้ายชาวโรฮิงญา และบังคลาเทศหลบหนีออกจากค่ายพักพิงผู้ลี้ภัยในจังหวัดซิตตเว รัฐยะไข่ เจ้าหน้าที่จึงได้ควบคุมตัวทั้งหมดไปคัดแยกก่อนส่งตัวชาวบังคลาเทศกลับประเทศ และนำตัวชาวโรฮิงญากลับไปยังค่ายพักพิงที่หลบหนีออกมา
แม้ก่อนหน้านี้ทางการเมียนมาจะปฏิเสธไม่ยอมรับผู้อพยพทางเรือว่าเป็นคนของเมียนมา แต่การกดดันอย่างหนักของนานาชาติทำให้ทางการเมียนมาใช้เรือตรวจการณ์ทางน้ำ ออกลาดตระเวนเฝ้าระวังหมู่เกาะต่างๆ เกือบ 20 เกาะในอ่าวเบงกอล ซึ่งมีแคมป์ที่พักชั่วคราวของชาวโรฮิงญาและบังคลาเทศ เพื่อรอกลุ่มขบวนการค้ามนุษย์จากประเทศไทย นำเรือขนาดใหญ่มารับตัวผู้หลบหนีทั้งหมดมาขึ้นฝั่งที่จังหวัดระนองหรือพังงา
ขณะที่ในพื้นที่ทางบก ทางการเมียนมาก็ดูแลอย่างเข้มงวด ด้วยการจัดกำลังเฝ้าระวังบริเวณค่ายพักพิงต่างๆ โดยเฉพาะบริเวณด่านพรหมแดนที่เป็นรอยต่อกับบังคลาเทศ
ชาวรัฐยะไข่คนหนึ่งซึ่งอาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยในจังหวัดซิตตเวบอกว่า ข่าวสารการจัดการปัญหาของโรฮิงญาและความขัดแย้งของคนในชาติของทางการเมียนมาที่เผยแพร่ผ่านสื่อต่างชาติหลายครั้งไม่ตรงกับความเป็นจริง เพราะปัจจุบันทางการเมียนมาได้รับแรงกดดันจากหลายประเทศในการเข้ามาแก้ปัญหานี้ แต่จำนวนของผู้ได้รับผลกระทบจากการสู้รบที่มีจำนวนมากและความยากจน รวมถึงการพัฒนาที่ไม่ทั่วถึง ทำให้ปัญหานี้ยังยากที่จะหาทางออก และเห็นว่าสมาชิกอื่นๆ ของในอาเซียนก็ควรร่วมหาทางออกในปัญหาผู้อพยพทางเรือ เพราะรัฐบาลเมียนมา ไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ตามลำพัง