นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย ระบุว่า ปัจจุบันประชาชนนิยมบริโภคอาหารกระป๋อง ไม่ว่าจะเป็นอาหารปรุงสำเร็จบรรจุกระป๋อง ผลไม้และน้ำผลไม้ รวมถึงเครื่องดื่มหรือผลิตภัณฑ์บำรุงร่างกาย ซึ่งก่อนเลือกซื้อควรอ่านฉลากข้างกระป๋องให้ละเอียด โดยต้องมีเลขสารระบบอาหารในเครื่องหมาย อย. (เลข 13 หลัก) สถานที่ผลิต วันเดือนปีที่ผลิต และวันเดือนปีที่หมดอายุ รวมถึงลักษณะของกระป๋องจะต้องไม่บวม ไม่บุบบู้บี้ ไม่เป็นสนิม และตะเข็บกระป๋องต้องไม่มีรอยรั่วหรือเป็นสนิม และเมื่อเปิดกระป๋องให้สังเกตว่ามีสีหรือกลิ่นผิดปกติจากเดิมหรือไม่ หรือหากพบสิ่งปลอมปนให้รีบนำไปให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ตรวจสอบ
อธิบดีกรมอนามัย กล่าวอีกว่า อาหารกระป๋องที่บวมหรือบุบบู้บี้ และตะเข็บกระป๋องมีรอยรั่วหรือเป็นสนิม อาจทำให้อาหารปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์และเกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านสี กลิ่น รสและคุณค่าของอาหาร โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรียชนิดโบทูลินั่ม ซึ่งจะสร้างสารพิษโบทูลินั่มที่ส่งผลต่อระบบประสาทอย่างรุนแรง หากรับประทานเข้าสู่ร่างกายจะเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน อาการอัมพาตของกล้ามเนื้อต่างๆ สายตาพร่ามองเห็นเป็นภาพซ้อน ซึม ง่วง กลืนอาหารไม่สะดวก ลิ้นและคออักเสบ กล้ามเนื้อต้นคออ่อนแรงจนยกหัวไหล่ไม่ขึ้น โดยจะแสดงอาการให้เห็นภายใน 2-4 ชั่วโมง ในบางรายอาจใช้เวลานานถึง 12-36 ชั่วโมง หากไม่ได้รับการรักษาโดยทันทีอาจเสียชีวิตด้วยระบบหายใจล้มเหลว ดังนั้นหากพบความผิดปกติเกิดขึ้นให้รีบไปพบแพทย์
ก่อนรับประทานอาหารกระป๋องทุกครั้งต้องอุ่นด้วยความร้อนให้เดือด ห้ามอุ่นอาหารทั้งกระป๋องโดยเด็ดขาด เพราะอาจเกิดอันตรายจากสารเคลือบหรือสารโลหะที่จะละลายปนมาในอาหาร ส่วนอาหารกระป๋องที่เปิดแล้วหากรับประทานไม่หมด ต้องถ่ายใส่ภาชนะอื่นที่สะอาด มีฝาปิดมิดชิด เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโรคและควรเก็บในตู้เย็น