ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ครม.รับทราบ 3 แนวทางแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ

เศรษฐกิจ
12 ธ.ค. 60
19:00
5,723
Logo Thai PBS
ครม.รับทราบ 3 แนวทางแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ
ที่ประชุม ครม.รับทราบ 3 แนวทางการแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ โดยเน้นให้เพิ่มสัดส่วนการใช้ยางในโครงการภาครัฐ ชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการที่รับซื้อยางพาราไม่เกินร้อยละ 3 และจ่ายเงินชดเชยให้เกษตรกรที่เปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นแทนยางพารา

วันนี้ (12 ธ.ค.2560) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้หารือเรื่องแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ โดยเตรียมมาตรการให้ความช่วยเหลือในระยะสั้น ด้วยการดูดซับปริมาณยางออกจากตลาด โดยจะให้มีบริษัทเข้าไปรับซื้อยางเพื่อนำไปแปรรูป และให้หน่วยงานของรัฐไปจัดซื้อ นำมาใช้ในโครงการต่างๆ ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้สถานการณ์ยางดีขึ้นได้ในระยะสั้น ควบคู่กับการลดปริมาณยางในตลาดทั้งการหยุดกรีดยางสำหรับสวนยางของรัฐ และโค่นยางทิ้งสำหรับนายทุนที่บุกรุกพื้นที่ ส่วนเกษตรกรรายย่อยจะหามาตรการช่วยเหลืออีกครั้ง ส่วนการที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ยื่นจดหมายเปิดผนึกให้รัฐบาลทราบถึงปัญหารายได้ครัวเรือนของประชาชนภาคใต้ที่ลดลงนั้น ถือว่าเป็นความหวังดี แต่ขอให้บอกวิธีการแก้ปัญหาเข้ามาด้วย

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึง 3 มาตรการแก้ปัญหาราคายางพาราที่ ครม.รับทราบวันนี้ว่า คาดการณ์ว่าจะช่วยพยุงราคายางพาราที่กิโลกรัมละ 50-60 บาท ไม่ให้เกษตรกรขาดทุน สำหรับมาตรการแรก ขอให้ส่วนราชการ ได้แก่ กระทรวงคมนาคม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ไปประชุมหารือเพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับปริมาณความต้องการใช้ยางพารา จากปัจจุบันที่มีอยู่ประมาณ 70,000-80,000 ตัน ซึ่งยังเป็นปริมาณที่น้อยเกินไป ส่วนมาตรการที่ 2 คือชดเชยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับผู้ประกอบการรับซื้อยางพาราไม่เกินร้อยละ 3 โดยเตรียมวงเงินไว้ 20,000 ล้านบาท เพื่อดูดซับผลผลิตออกจากท้องตลาดได้ประมาณ 350,000 ตัน

ส่วนมาตรการที่ 3 คือลดการกรีดน้ำยางในพื้นที่ส่วนราชการทั้งหมดเป็นเวลา 3 เดือน คือมกราคม - มีนาคม 2561 ซึ่งมีพื้นที่ปลูกยางพาราอยู่ประมาณ 120,000 ไร่ ช่วยลดปริมาณได้ประมาณ 5,000 ตัน และเชิญชวนให้เกษตรกรลดพื้นที่ปลูกยางพาราลงแล้วเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่น โดยมีเป้าหมายอีก 200,000 ไร่ โดยรัฐจะจ่ายเงินชดเชยให้ไร่ละ 400 บาท แต่ไม่เกินครัวเรือนละ 10 ไร่ หรือประมาณ 4,000 บาทต่อครัวเรือน ซึ่งการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จะนำทั้ง 3 มาตรการเสนอให้ที่ประชุมบอร์ด กยท.และคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติพิจารณาและอนุมัติภายในสัปดาห์นี้ ก่อนเสนอเข้าที่ประชุม ครม.อีกครั้งในสัปดาห์หน้า

 

 

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง