ทีมข่าวไทยพีบีเอส ได้พูดคุยถึงที่มาที่ไปก่อนจะมาเป็นคอนเสิร์ตที่เป็นกระแสพูดถึงเมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านี้กับคุณ “เลิศเกียรติ จงจิรจิต” นักทรัมเป็ต ผู้มีประสบการณ์อันยาวนานในวงดุริยางค์ซิมโฟนีระดับนานาชาติ ถึงแรงบันดาลใจในการจัดงานคอนเสิร์ตการกุศลในครั้งนี้ ซึ่งได้การตอบรับที่ดีเกินคาดในวันงาน ทั้งๆ ที่เกือบจะล้มเหลวไปแล้ว
ทำไมถึงอยากเข้ามาช่วยเหลือมูลนิธิโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง
ต้องบอกว่าเพื่อนผมที่เป็นเพื่อนสนิทกัน แล้วภรรยาของเขาเป็นหมอ ได้เล่าเรื่องโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ซึ่งงานอดิเรกผมคือ ถ่ายรูป เขาชวนผมไปถ่ายรูปน้องๆ ผู้ป่วยในปีที่แล้ว แล้วผมก็ได้เห็นว่าอะไรคือโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง พอผมอยากจะเล่นคอนเสิร์ต จริงๆ ตั้งใจแต่แรกจะเล่นปกติ เพราะว่าเราก็เล่นคอนเสิร์ตของเราอยู่แล้ว แต่ว่าพอได้คุยกับเพื่อน เขาก็บอกว่าไม่ลองมาเชื่อมกันหน่อยเหรอ เราก็เห็นว่าน่าสนใจ ด้วยความที่ว่าเครื่องที่เราเล่นเป็นเครื่องเป่าด้วย แล้วก็ที่ทางมูลนิธิฯ ขาด เขาก็ขาดเครื่องช่วยหายใจ ก็เลยคิดว่า เข้ากันดี เพราะอย่างน้อย การเล่นดนตรีของเราก็มีความหมายมากขึ้นอีก
เคยเล่นดนตรีการกุศลช่วยเหลือแบบนี้มาก่อนไหม?
ก็อยู่เรื่อยๆ นะครับ ส่วนมากเวลาเราเล่นคอนเสิร์ตการกุศลแบบนี้ ผมจะเล่นแบบจัดเอง ไมได้เล่นในหน่วยงานไหน เมื่อก่อนผมก็เล่นให้กับสโมสรโรตารี่ แล้วก็สร้างโรงเรียน หรืออะไรทำนองนี้ จัดคอนเสริ์ตการกุศลทั่วไป
งานครั้งนี้เราได้เชื่อมดนตรีเข้ากับการเยียวยาผู้คนอย่างไร
ผมเชื่อว่าดนตรีเป็นส่วนประกอบสำคัญของสุขภาพ สุขภาพไม่ใช่มีแค่แบบว่า ตับ ปอด ม้าม สมอง มันมีส่วนที่อยู่นอกเหนือจากนั้น นั่นคือ mental heath หรือสุขภาพจิต ซึ่งผมคิดว่าดนตรีมันช่วยเรื่องนี้ อย่างถ้าเราเตะฟุตบอล หรือไปวิ่งเราก็ได้กล้ามเนื้อขา แต่ว่าดนตรี หรือว่าศิลปะ ทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะแค่ดนตรี มันเป็นสิ่งที่เรียกว่า “เสริม” ทางด้านใจ เป็นอาหารเสริม เป็นวิตามิน
เพลงที่เลือกสื่อถึงผู้ป่วยอย่างไร
ดนตรีที่เราเล่น เพลงที่เล่นที่มันมีความหมายเพื่อ ให้น้องๆ ผมก็เลือกมาหลายเพลง จริงๆ มันเป็นเพลงที่ผมชอบเกือบทั้งหมดที่เล่นอยู่ในงานนี้ อย่างบางเพลงเช่นเพลงของนักประพันธ์ชาวอเมริกันคนนึง ชื่อ George Gershwin เพลง Someone to watch over me ก็เหมือนกับว่าเป็นเพลงที่ดูแล เป็นห่วง แสดงถึงความรัก หรือว่าเพลง Towards ของ Lea Salonga ที่เธอร้องตอนงานแต่งงานของตัวเอง ก็เป็นเพลงที่ให้คำมั่นสัญญา ว่าเราจะดูแลกัน
ความรู้สึกก่อนจะเป็นกระแสไวรัล ที่เกือบจะล้มเหลว
ปกติเวลาผมจัดคอนเสิร์ต ถ้าผมจัดเองก็จะมีแผนการโปรโมทของตัวเอง เราก็จะเข้าใจว่าธรรมชาติของคนที่มาดูว่าเขาต้องการฟังเพลงแนวไหน อย่างไร แล้วคนที่คนที่ฟังเพลงแบบเรา มันก็มีไม่เยอะ กลุ่มเล็กมาก แล้วก็เราอยากให้คนที่มาดู ได้ฟังดนตรี แล้วก็แถมทำบุญไปในตัว
แต่พอการจัดคอนเสิร์ตครั้งนี้ผมไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับการจัดงาน ผมก็จะดูแลแต่เรื่องดนตรีอย่างเดียว ฉะนั้นการจัดงานก็จะเป็นของทีมงานไป
คราวนี้ประเด็นไวรัลที่มาคือ จริงๆ ทีมงานก็โทรมาบอกผมว่าคนดูน้อยมาก คือผมเข้าใจว่าเขาคงห่วงความรู้สึกของคนเล่น ว่าคนดูน้อย แล้วเราจะรู้สึกแย่ ซึ่งผมบอกมันไม่เป็นไรหรอก คืออาจจะผิดแผน ผิดอะไรเราก็คงต้องไปคุยอีกทีว่า การโปรโมทอะไรๆ อาจจะผิด
แต่ถ้าเกิดคนดูน้อยก็ไม่ต้องเป็นห่วง ผมไม่อยากยกเลิก เราตั้งใจจะเล่นแล้ว เราก็เล่นไปเถอะ แล้วเดี๋ยวค่อยว่ากันอีกที ถ้าผิดแผนเดี๋ยวคราวหน้าเราแก้ตัวใหม่ แล้วอีกวันนึงก็มีข้อความ ทำนองว่ามีความเข้าใจผิด โดยเฉพาะเพื่อนที่เรารู้จักเราดี เขาก็จะรู้ว่าเราเป็นนักดนตรีมานาน เราไม่เคยอ้อนวอนคนมาดู ถ้าอยากดูก็ยินดี ถ้าไม่อยากดู เราก็ไม่โกรธ ไม่อะไรเขาอยู่แล้ว
อีกอย่างนึงคือข้อความมันออกไปในทางเหมือนกับว่ามาดูน้องๆ เล่นดนตรีซึ่งน้องๆ ไม่ได้เล่นดนตรี จริงแล้วเป็นผมเล่น เพื่อหาทุนให้มูลนิธิฯ เพื่อจัดการซื้ออุปกรณ์
หลังจากที่เป็นกระแสแล้ว รู้สึกอย่างไรกับการช่วยแชร์ข้อมูลของคนในสังคมออนไลน์
คือผมคิดว่า awareness หรือความตระหนักรับรู้ของโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ควรจะมี และควรจะมีมากขึ้น อย่างช่วงที่ผ่านมามีประเด็นเรื่องโรคซึมเศร้า แล้วคนเริ่มรู้จักมากขึ้น ว่าคนเป็นโรคนี้เขาไม่ได้บ้านะ คือมันเป็นโรค มันเป็นเคมีในสมองที่ไม่สมดุล
โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงก็เหมือนกัน เป็นโรคที่ถ้าคนทั่วไปเขารู้มากขึ้น ก็รู้ว่ามันเป็นโรคที่ไม่มีใครเลือกที่จะเป็น มันเป็นโรคที่ทำอะไรไม่ได้ เป็นแล้วก็ต้องช่วยกันไป ซึ่งมันก็มีหลายประเด็นที่ต้องการให้ช่วย เช่นว่า หลังจากที่เป็นแล้วเราจะช่วยแก้ไขยังไง หรือถ้าเขาเป็นแล้วเขาต้องนั่งรถเข็นเนี่ย ฟุตบาทจะต้องเรียบ ทางเดินทางขึ้นก็ต้องอำนวยความสะดวกให้เขาช่วยเหลือตัวเองได้ หรือว่าถอยกลับมาอีกนิดนึงก็คือ อาจจะมียารักษา ทำให้เขาพยุง อยู่ให้ได้นานที่สุด หรือว่าก่อนหน้านั้นคือ ป้องกันเลย เพื่อไม่ให้มีโรคนี้เกิดขึ้น คือถ้าคนรู้จักโรคนี้มากขึ้น
สำหรับในส่วนของมูลนิธิโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือ FEND ได้ออกมาเปิดเผยว่า ปัจจุบันในประเทศไทย นั้นยังไม่ไม่มีข้อมูลตัวเลขของผู้ป่วยที่แน่นอน โดยข้อมูลที่มีนั้นจะเพียงข้อมูลในระบบที่เก็บมาจากโรงพยาบาลต่างๆ ซึ่งหากเป็นผู้ป่วยที่อยู่บ้านแล้วไม่ได้มาเข้าสู่ระบบ เราจะไม่ทราบข้อมูลเลย โดยในขณะนี้ ทางมูลนิธิกำลังพยายามเก็บมูลผู้ป่วยที่อยู่นอกระบบ เช่นเดียวกับในต่างประเทศอยู่
"...จริงๆ แล้ว พวกเขาแค่อยากมีเพื่อน"
เมื่อสอบถามถึงความต้องการ หรือความในใจของผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ทางมูลนิธิโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ได้เปิดเผยกับเราว่า แท้จริงแล้ว สิ่งที่ผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องการมากที่สุดคือ “สังคม หรือเพื่อน” ที่เข้าใจพวกเขา ซึ่งถ้ามองในมุมของคนปกติ หากว่าเราเป็นผู้ป่วย สิ่งที่เราต้องการมากที่สุด ก็คือการหายจากโรคนั้น แต่สำหรับพวกเขาแล้ว สิ่งที่เขาต้องการคือ “เพื่อน” ที่เข้าใจพวกเขา เพื่อนที่ไว้พูดคุย เพื่อนที่เขาไว้ใจ สามารถหัวเราะ หรือสนุกสนานไปด้วยกันได้ ดังนั้นความช่วยเหลือที่มูลนิธิฯ ทำ จึงเป็นการพยายามจัดเป็นกิจกรรมให้ผู้ป่วยได้ออกมาข้างนอก ได้มีสังคม แล้วก็มีเพื่อน มาใช้ชีวิตเหมือนปกติทั่วไป
สำหรับในส่วนของเงินบริจาคนั้น ทางมูลนิธิจะไปนำไปจัดซื้ออุปกรณืเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีความต้องการที่แตกต่างกันออกไป ตัวอย่างเช่น หลายครั้งที่มีการจัดกิจกรรม ทางมูลนิธิฯ ต้องหาอุปกรณ์ให้ผู้ป่วยออกมาเคลื่อนไหวได้สะดวก อย่างเช่น วีลแชร์ หรือวีลแชรไฟฟ้า หรือถ้าเป็นผู้ป่วยที่อยู่บ้านนานๆ ก็จะเริ่มมีภาวะอ้วน หรือปัญหาเรื่องน้ำหนักตัว ก็ต้องมีเครื่องช่วยยก เนื่องคนที่ช่วยผู้ป่วยบ่อยๆ จะมีอาการก็จะเจ็บหลัง รวมไปถึงผู้ป่วยบางคนที่เผชิญกับโรคนี้เป็นระยะเวลานานก็จะเริ่มหายใจเองไม่ได้ จึงต้องมีเครื่องช่วยหายใจมาช่วย หรือบางคนก็อาจจะต้องการความช่วยเหลือมากกว่านั้น ซึ่งเงินบริจาคก็จะนำมาช่วยเหลือในส่วนนี้
นอกเหนือจากคอนเสิร์ตในครั้งนี้ที่เพิ่งจบไปแล้วแล้ว ทางมูลนิธิฯ ยังมีอีกหนึ่งกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ผู้พลาดชมคอนเสิร์ตได้มีส่วนร่วม ส่งต่อทำนองเพื่อน้องๆ ผู้ป่วย ด้วยการสร้างเมโลดี้เสียงทรัปเป็ตในแบบของตัวเองง่ายๆ ผ่านเว็บไซต์ http://www.abreathetomove.com ร้อยเรียงเป็นบทเพลง ส่งต่อเป็นกำลังใจถึงผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงอีกทางหนึ่งด้วย
เพียงพิมพ์ชื่อ ตัวอักษรภาษาอังกฤษ ลงในกล่องข้อความ ก็จะถูกเปลี่ยนเป็นตัวโน็ต ร้อยเรียงเป็นเมโลดี้เสียงทรัมเป็ตที่ไม่เหมือนใคร บรรจุไว้ในโปรแกรม ซึ่งถืออีกหนึ่งไอเดียที่ศิลปินต่อยอดจากการใช้เสียงดนตรีเป็นสื่อ สร้างความน่าสนใจด้วยโปรแกรมสมัยใหม่ ที่ไม่เพียงหวังให้ผู้สนใจได้มีส่วนร่วมกับกิจกรรม และการบริจาค