ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"เต่านาอีสาน-ค้างคาวมงกุฎภูเขา" สิ่งมีชีวิตใหม่ 115 ชนิดในลุ่มแม่น้ำโขง

สิ่งแวดล้อม
19 ธ.ค. 60
15:42
1,742
Logo Thai PBS
"เต่านาอีสาน-ค้างคาวมงกุฎภูเขา" สิ่งมีชีวิตใหม่ 115 ชนิดในลุ่มแม่น้ำโขง
องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล เปิดรายงานการค้นพบสิ่งมีชีวิต 115 ชนิดพันธุ์ใหม่ทั้งพืชและสัตว์ ในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขง ประจำปี 2560 เช่น กิ้งก่าจระเข้ เต่านาอีสาน ค้างคาวมงกุฎภูเขา ห่วงโครงการขนาดใหญ่ การลักลอบค้าสัตว์ป่า เป็นปัจจัยเสี่ยงสูญพันธ์ุ

วันนี้ (19 ธ.ค.2560) องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF เปิดเผยรายงานให้เห็นถึงการค้นพบอันน่าทึ่งของทีมนักวิทยาศาสตร์ ที่ทำงานศึกษาวิจัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขง ทั้งนี้ สิ่งมีชีวิตที่ค้นพบใหม่ แบ่งได้เป็นสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 11 ชนิดพันธุ์ ปลา 2 ชนิดพันธุ์ สัตว์เลื้อยคลาน 11 ชนิดพันธุ์ พืช 88 ชนิดพันธุ์ และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอีก 3 ชนิดพันธุ์ โดยพื้นที่ที่ค้นพบได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม และไทย

การค้นพบครั้งนี้ยังรวมถึง กบสีสันสวยงาม ซึ่งพบในพื้นที่ภูเขาหินปูนในประเทศเวียดนาม ตัวตุ่นจำนวน 2 ชนิดพันธุ์ พบโดยทีมนักวิทยาศาสตร์ชาวเวียดนามและชาวรัสเซีย ปลาโลซ (loach) ลำตัวยาวและมีลายพาดขวางสลับสีเข้มอ่อนพบในประเทศกัมพูชา การสำรวจดังกล่าวดำเนินการโดย WWF เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2540 จนถึงปัจจุบัน รวมจำนวนสัตว์และพืชสายพันธุ์ใหม่ ที่ค้นพบ 2,524 ชนิดพันธุ์

 



Stuart Chapman ตัวแทน WWF ประจำภูมิภาคลุ่มน้ำโขงกล่าว กล่าวว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เราสำรวจพบสิ่งมีชีวิตมากกว่า 2 ชนิดพันธุ์ทุกสัปดาห์ รวมแล้วมากกว่า 2,500 ชนิด บ่งบอกถึงความมหัศจรรย์ของความหลากหลายทางชีวภาพของภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงในระดับโลก แม้ว่าปัจจุบันภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง จะต้องเผชิญกับภัยคุกคามทางธรรมชาติรูปแบบต่างๆ แต่การค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดพันธุ์ใหม่ๆ ก็ทำให้เรามีความหวังถึงการมีชีวิตรอดของไม่ว่าจะเป็นเสือหรือเต่าตัวเล็กๆ 

สำหรับสัตว์ชนิดเด่นได้แก่ 

ค้างคาวมงกุฎภูเขา ประเทศไทย

ค้างคาวมงกุฎภูเขา ประเทศไทย

ค้างคาวมงกุฎภูเขา ประเทศไทย

 

ค้างคาวมงกุฎภูเขา (Mountain Horseshoe bat) หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Rhinolophus monticolus พบในพื้นที่ป่าดงดิบในเทือกเขาของประเทศลาว และประเทศไทย การค้นพบครั้งนี้ใช้เวลานานถึง 10 ปีในการตรวจสอบจนกระทั่ง ดร.พิพัฒน์ สร้อยสุข จะสามารถระบุได้ว่า ค้างคาวที่พบเป็นสัตว์ชนิดพันธุ์ใหม่ จากลักษณะโครงหน้าค้างค้าวที่แตกต่างจากค้างคาวมงกุฎชนิดพันธุ์อื่น คือ มีแผ่นจมูกสีส้ม

 

กิ้งก่าจระเข้ ประเทศเวียดนาม

กิ้งก่าจระเข้ ประเทศเวียดนาม

กิ้งก่าจระเข้ ประเทศเวียดนาม

 

กิ้งก่าจระเข้ (Vietnamese crocodile lizard) หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Shinisaurus crocodilurus vietnamensis เป็นสัตว์เลื้อยคลานขนาดกลาง อาศัยอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำและป่าดิบทางตอนใต้ของประเทศจีนและทางตอนเหนือของประเทศเวียดนาม

ปัจจุบันภัยคุกคามหลักต่อการอยู่รอดของกิ้งก่าจระเข้มาจากการบุกรุกพื้นที่ป่า การทำเหมืองถ่านหิน และการลักลอบซื้อขายสัตว์ป่าเพื่อนำมาขาย คาดว่า มีกิ้งก่าสายพันธุ์ดังกล่าวเหลืออยู่ในประเทศเวียดนามเพียง 200 ตัวเท่านั้น กิ้งก่าชนิดพันธุ์นี้ค้นพบโดย ดร. Thomas ziegler นอกจากนี้ ยังได้รับความสนใจนำไปวาดเป็นการ์ตูนประกอบในหนังสือชื่อ “shini” เพื่อเผยแพร่ให้นักเรียนเข้าใจถึงความสำคัญของกิ้งก่าจระเข้

 

 เต่านาอีสาน ที่ประเทศไทย

เต่านาอีสาน ที่ประเทศไทย

เต่านาอีสาน ที่ประเทศไทย

 

เต่านาอีสาน (snail eating turtle) หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Malayemys isan มีความแตกต่างจากสัตว์ชนิดอื่น เพราะไม่ได้ถูกค้นพบในพื้นที่ป่าหรือแหล่งน้ำ แต่พบในตลาดแห่งหนึ่งทางภาคเหนือของประเทศไทย โดยดร.มนตรี สุมณฑา ผู้ค้นพบสังเกตเห็นเต่าชนิดนี้ที่ตลาด และจึงนำมาศึกษาวิจัย ปัจจุบันเต่านาอีสานกำลังถูกคุกคามอย่างหนักจากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น การสร้างเขื่อน

 

 ตัวตุ่น ที่เวียดนาม

ตัวตุ่น ที่เวียดนาม

ตัวตุ่น ที่เวียดนาม

 

ตัวตุ่น (Moles) ค้นพบที่ประเทศเวียดนาม การค้นพบดังกล่าวทำให้ได้ข้อมูลเชิงลึกถึงวิวัฒนาการและการพัฒนาของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในอินโดจีน เพราะพบได้ตามแหล่งน้ำลำธารสาขาทางตอนเหนือของประเทศเวียดนาม หนึ่งในทีมนักวิจับที่ค้นพบคือ ดร. Alexei Abramov ระบุว่า การที่ตัวตุ่นอาศัยอาศัยอยู่ใต้ดิน เป็นหนึ่งในวิธีการเอาตัวรอดของตัวตุ่นเพื่อดำรงจำนวนประชาชากรและหลบหนีนักล่า

 

กบ Odorrana Mutschmanni

กบ Odorrana Mutschmanni

กบ Odorrana Mutschmanni

 

กบสีสันสดสวยงาม หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Odorrana Mutschmanni คือหนึ่งใน 5 ของสัตว์ชนิดพันธุ์ใหม่ที่พบในบริเวณภูเขาหินปูนทางตอนเหนือของเวียดนาม คณะวิจัยที่นำโดย ดร. Truong Nguyen ระบุว่า กบชนิดนี้กำลังถูกคุกคามจากการทำเหมืองหิน สำหรับการก่อสร้างปูนซีเมนต์และการสร้างถนน และป่าซึ่งที่เป็นพื้นที่อยู่อาศัยของมันต้องการการปกป้องอย่างเร่งด่วน

 

ปลาโลซ (loach) ประเทศกัมพูชา

ปลาโลซ (loach) ประเทศกัมพูชา

ปลาโลซ (loach) ประเทศกัมพูชา

 

ปลาโลซ (loach) พบในประเทศกัมพูชา ปลาชนิดดังกล่าวมีลายพาดสีเข้มสลับสีอ่อนที่โดดเด่นตลอดลำตัวยาว


ทั้งนี้ WWF ระบุว่าการค้นพบสัตว์สายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่สำคัญอย่างมาก เพราะปัจจุบัน ภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง กำลังเผชิญกับการพัฒนาขนาดใหญ่จำนวนมากไม่ว่าจะเป็น การทำเหมือง ถนน และเขื่อน ที่เป็นภัยคุกคาม ต่อการอยู่รอดของพื้นที่ป่าตามธรรมชาติ การลักลอบล่าสัตว์ป่าเพื่อเอาเนื้อมาบริโภค และธุรกิจการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายที่ส่งผลต่อการอยู่รอดของสัตว์ป่าในภูมิภาค

โดยการซื้อขายสัตว์ป่าผิดกฎหมาย เป็นตัวแปรหลักที่สำคัญต่อการลดลงของจำนวนสัตว์ป่าในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ตลาดค้าสัตว์ป่าที่ตั้งอยู่ในประเทศลาวและประเทศพม่า บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ ประกอบกับความต้องการซื้อจำนวนมากจากนักท่องเที่ยวจีนและเวียดนาม ที่เดินทางมายังตลาดมงลาและตลาดท่าขี้เหล็กในประเทศพม่า ตลาดบ่อเต็นและบริเวณเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศลาว ก็กระตุ้นให้เกิดการล่าสัตว์ป่าเพิ่มมากขึ้น

Stuart Chapman ย้ำว่า “สิ่งมีชีวิตที่พบในพื้นที่แม่น้ำโขงเปรียบเสมือนผลงานศิลปะจากธรรมชาติ ซึ่งสมควรได้รับการปกป้องจากนักสะสมที่ไร้จิตสำนึก ที่หวังเพียงครอบครองสิ่งมีชีวิตที่มีค่าเหล่านี้ ตลาดสามเหลี่ยมทองคำเป็นพื้นที่เปิดให้มีการค้าขายสัตว์ป่าอย่างเปิดเผย จำเป็นที่รัฐบาลในภูมิภาคควรต้องเร่งดำเนินการต่อต้านการค้าสัตว์ป่าและปิดตลาดให้ได้เร็วที่สุด รวมถึงธุรกิจฟาร์มเสือและฟาร์มหมี
ทั้งนี้ WWF ได้นำเสนอ โครงการเพื่อหยุดยั้งการค้าขายสัตว์ป่าและปิดตลาดค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

 



ข่าวที่เกี่ยวข้อง