ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

น่าห่วง! คน กทม.ซื้อของฝากเมินตรวจ "วันหมดอายุ"

สังคม
20 ธ.ค. 60
12:33
550
Logo Thai PBS
น่าห่วง! คน กทม.ซื้อของฝากเมินตรวจ "วันหมดอายุ"
คน กทม. เลือกขนมเป็นของฝาก แต่ไม่ถึงครึ่งที่ดูวันเดือนปีที่หมดอายุ และสถานที่ผลิต สำรวจพบน้ำพริกหนุ่ม แหนมเนือง ขนมเปี๊ยะ ขนมเค้ก ทองหยิบทองหยอด ปลาหมึกแห้ง ยอดนิยมที่ซื้อมาเป็นของฝาก

วันนี้ (20 ธ.ค.2560) นิตยสารฉลาดซื้อ ร่วมมือกับศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบัน วิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา สำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการซื้อของฝากจากการท่องเที่ยวของคนกรุงเทพมหานคร โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวน  1,271 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 28 - 30 พ.ย.ที่ผ่านมา

ผศ.สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่า ผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อการซื้อของฝากจากการท่องเที่ยวของคนกรุงเทพมหานคร การซื้อของฝากให้กับญาติสนิท มิตรสหาย และของฝากประเภทใดที่มีความนิยมในการเลือกซื้อ ซึ่งมีการแบ่งแยกตามแต่ละภาคของประเทศไทย รวมไปถึงการตรวจสอบฉลากเรื่องของวันหมดอายุ สถานที่ผลิต ผลสำรวจมีดังนี้

 

 

"ของฝาก"ยอดนิยม ขนม-อาหารแห้ง-ของชำร่วย

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ คิดว่าจะซื้อของฝากจากการท่องเที่ยว อันดับหนึ่งคือ ขนม ของทานเล่น ร้อยละ 26.6 อันดับที่สองคืออาหารแห้ง ร้อยละ 26.0 อันดับที่สามคือของชำร่วย พวงกุญแจ ร้อยละ 24.4 อันดับที่สี่คือเครื่องแต่งกาย ร้อยละ 23.0 และอันดับที่ห้าคือผักสด ผลไม้สด ร้อยละ 20.9 ของฝาก จาก ภาคเหนือ อันดับแรกคือน้ำพริกหนุ่ม ร้อยละ 36.1 อันดับที่สองคือแคบหมู ร้อยละ 29.7 อันดับที่สามคือหมูยอ ร้อยละ 25.0 อันดับที่สี่คือไส้อั่ว ร้อยละ 24.6 และอันดับที่ห้าคือใบชา ร้อยละ 18.3

ของฝากจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อันดับแรกคือแหนมเนือง ร้อยละ 34.7 อันดับที่สองคือหมูยอ ร้อยละ 29.4 อันดับที่สามคือกุนเชียง ร้อยละ 26.9 อันดับที่สี่คือแหนม ร้อยละ 19.7 และอันดับที่ห้าคือน้ำพริก ร้อยละ 18.3

ของฝากจากภาคตะวันออก อันดับแรกคือขนมเปี๊ยะ ร้อยละ 29.1 อันดับที่สองคือข้าวหลาม ร้อยละ 27.5 อันดับที่สามคืออาหารทะเลแห้ง ร้อยละ 26.3 อันดับที่สี่คือผลไม้อบแห้ง ร้อยละ 21.6 และอันดับที่ห้าคือน้ำปลา ร้อยละ 17.5

ของฝากจากภาคกลาง อันดับแรกคือขนมเค้ก ร้อยละ 27.3 อันดับที่สองคือสายไหม ร้อยละ 27.1อันดับที่สามคือโมจิ ร้อยละ 26.8 อันดับที่สี่คือกะหรี่พัฟ ร้อยละ 22.0 และอันดับที่ห้าคือขนมเปี๊ยะ ร้อยละ 21.9

ของฝากจากภาคตะวันตก อันดับแรกคือทองหยิบทองหยอด ร้อยละ 27.7 อันดับที่สองคือขนมหม้อแกง ร้อยละ 27.6 อันดับที่สามคือขนมชั้น ร้อยละ 25.3 อันดับที่สี่คือขนมปังสัปปะรด ร้อยละ 23.4 และอันดับที่ห้าคือมะขามสามรส ร้อยละ 19.7

ของฝากจากภาคใต้ อันดับแรกคือปลาหมึกแห้ง ร้อยละ 32.5 อันดับที่สองคือกะปิ ร้อยละ 29.3 อันดับที่สามคือกุ้งแห้ง ร้อยละ 24.2 อันดับที่สี่คือน้ำพริก ร้อยละ 22.3 และอันดับที่ห้าคือเครื่องแกง ร้อยละ 21.3

 

 

"ผู้บริโภค" ยอมรับเมินดูวันหมดอายุ

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ มีการตรวจดูวันเดือนปีที่หมดอายุ ร้อยละ 44.8 รองลงมาไม่มีการตรวจดู ร้อยละ 35.4 ไม่แน่ใจ ร้อยละ 19.8 และมีการตรวจดูสถานที่ผลิต ร้อยละ 44.8 รองลงมาไม่มีการตรวจดู ร้อยละ 34.2 และไม่แน่ใจ ร้อยละ 21.0 และกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ไม่เคยได้รับของฝากที่หมดอายุจากบุคคลอื่น ร้อยละ 54.8 รองลงมาไม่แน่ใจ ร้อยละ 28.8 และเคยได้รับของฝากที่หมดอายุจากบุคคลอื่น ร้อยละ 16.4


น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า การเลือกซื้อสินค้าของฝาก ฉลากเป็นสิ่งจำเป็นและผู้บริโภคไม่ควรละเลยที่จะตรวจสอบข้อมูลที่แสดงบนฉลากก่อนการตัดสินใจซื้อ เนื่องจากฉลากเป็นหนึ่งในสิทธิของผู้บริโภคที่ว่าด้วยการได้รับข่าวสาร รวมทั้งคุณภาพที่ถูกต้อง และเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ 

ที่ผ่านมาเมื่อปี 2559 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เคยมีผลทดสอบเรื่องความไม่ปลอดภัยของของฝากกลุ่มอาหารอยู่บ้าง เช่น สุ่มตรวจน้ำพริกพร้อมบริโภค เช่น น้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกกะปิ น้ำพริกปลาร้าสับ น้ำพริกตาแดง น้ำพริกนรก แจ่วบอง เป็นต้น ที่จำหน่ายตามตลาดสด ตลาดนัด ศูนย์โอทอป ศูนย์ของฝากทั่วประเทศ พบว่าจากทั้งหมด 1,071 ตัวอย่าง พบว่า ไม่ผ่านมาตรฐาน 164 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 15 ส่วนใหญ่พบปัญหาเรื่องการใช้วัตถุกันเสียเกินปริมาณที่อนุญาต การปนเปื้อนจุลินทรีย์และเชื้อโรคอาหารเป็นพิษ เช่น เชื้อบาซีลัส ซีเรียส และ เชื้อคลอสตริเดียม เพอร์ฟิงเจน

รวมทั้งในกรณีของ ปลาหมึกแห้ง ที่มูลนิธิฯ เคยสุ่มวิเคราะห์ตัวอย่างปลาหมึกแห้ง เมื่อปี 2553 พบการปนเปื้อนโลหะหนักทั้ง 8 ตัวอย่างที่สุ่มทดสอบ ทั้ง แคดเมียม ตะกั่ว และ ปรอท โดยเฉพาะ แคดเมียม ที่พบเกินค่ามาตรฐาน 4 จาก 8 ตัวอย่างที่นำมาทดสอบ

ส่วนในกลุ่ม ขนมปัง ขนมอบ ขนมเค้ก ก็มักมีความเสี่ยงในเรื่องของสารกันบูด ส่วนอาหารจำพวกแหนมเนือง มีความเสี่ยงของเชื้อโรคอาหารเป็นพิษที่อาจปนเปื้อนมาพร้อมผักสดที่ล้างทำความสะอาดไม่ดีพอ เช่นเดียวกับอาหารจำพวกเนื้อสัตว์หรือแปรรูปจากเนื้อสัตว์ หากรับประทานโดยที่อาหารไม่ผ่านการปรุงให้สุก หรือผลิตโดยไม่ได้มาตรฐานก็อาจมีการปนเปื้อนของเชื้อโรคอาหารเป็นพิษได้เช่นกัน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง