รอกันอยู่นานเกี่ยวกับการหาทางออกเรื่องการเตรียมความพร้อมของพรรคการเมืองตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เพราะยังติดคำสั่ง คสช.ที่ 57/2557 เรื่องห้ามพรรคการเมืองจัดกิจ กรรมทางการเมือง แต่วันที่ 22 ธ.ค.ที่ผ่านมา หัวหน้าคสช. ออกคำสั่ง ฉบับที่ 53/2560 เพื่อแก้ปัญ หาในทางปฏิบัติแล้ว
โดยใจความสำคัญ คือการกำหนดช่วงเวลาที่พรรคการเมืองต้องเตรียมความพร้อมใหม่ทั้งหมด ซึ่งหลักๆ แบ่งเป็น 4 ช่วงเวลาด้วยกัน ทั้งการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ การหาสมาชิก และทุนประเดิมของพรรค การเมือง และการประชุมใหญ่ ไม่ว่าจะพรรคใหม่หรือพรรคเก่า ท่ามกลางข้อครหา รีเซตสมาชิก และรีเซตพรรคการเมืองแบบซ่อนรูป
สาระสำคัญคำสั่ง "ปลดล็อกพรรคการเมือง"
จากเหตุที่พรรคการเมืองเกิดอุปสรรคในการเตรียมความพร้อม ตามบทบัญญัติของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐ ธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ประกอบกับเสียงสะท้อนให้ยกเลิกคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 57/2557 ห้ามกลุ่มการเมืองและพรรคการเมืองจัดกิจกรรมทางการเมือง หรือปลดล็อกพรรคการเมือง
และมีข้อเรียกร้องให้แก้กฎหมายลูก เพื่อสร้างความเท่าเทียมระหว่างพรรคการเมืองเก่าและใหม่ จึงเป็นที่มาของคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 แก้ไขบทบัญญัติในกฎหมาย เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ ภายใต้กรอบข้อกำหนดใหม่
สาระสำคัญ คือนับแต่มีคำสั่ง ก็เปิดทางให้ดำเนินธุรการทางการเมืองได้ ภายใต้การขออนุญาตจาก คสช. และกำหนดให้ วันที่ 1 มีนาคม 2561 เริ่มจดแจ้งจัดตั้งพรรคการเมือง
และตั้งแต่ 1 เมษายน 2561 แต่ละพรรคการเมืองต้องยืนยันสถานะสมาชิกพรรค โดยให้สมาชิกพรรคของแต่ละพรรค ทำหนังสือยืนยันสถานะต่อหัวหน้าพรรค พร้อมจ่ายค่าบำรุงพรรค ภายใน 30 วัน หากไม่ทันกรอบเวลาให้ถือว่า “สิ้นสภาพสมาชิกพรรคการเมือง”ไป
และกำหนดให้แต่ละพรรคการเมือง เตรียมความพร้อมเรื่องทุนประเดิม พรรคละ 1 ล้านบาท/หาสมาชิกพร้อมค่าบำรุงพรรค ไม่น้อยกว่า 500 คน ภายใน 180 วัน และนับ 1 เมษายน 2561 ภายใน 1 ปี ต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่า 5,000 คนพร้อมค่าบำรุง ภายใน 4 ปีต้องมีสมาชิกและค่าบำรุงไม่น้อยกว่า 10,000 คน
กรอบกำหนดสุดท้าย ให้พรรคการเมืองจัดประชุมใหญ่ ปรับโครงสร้างบุคคลและข้อบังคับ จัดตั้งสาขาและตัวแทน ประจำจังหวัด ภาคละ 1 สาขา ภายใน 90 วัน นับแต่ประกาศปลดล็อกให้พรรคการเมือง โดยขอขยายเวลาได้ 1 เท่า หากไม่ทันตามกำหรด จะงดเงินอุดหนุนพรรค
และมีข้อกำหนดให้การเลือกตั้งครั้งแรกนั้นให้พรรคการเมืองจัดตั้งคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ที่ประกอบด้วยกรรมการบริหารพรรค 4 คน และหัวหน้าสาขาเลือกกันเอง 7 คน หากพรรคใดหัวหน้าสาขาไม่พอ ก็ให้พรรคการเมืองหาสมาชิกให้ได้จนครบ 7 คนได้
พล.ต.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ทีมโฆษก คสช.ระบุว่า การออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 เรื่องการดำเนินการ ตามกฏหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง ลงวันที่ 22 ธันวาคม 2560 ซึ่งมีสาระสำคัญ ระบุถึงการผ่อนคลายการดำเนินกิจกรรม ให้พรรคการเมือง ทั้งพรรคเดิมและพรรคที่จะจัดตั้งใหม่ โดยแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ซึ่งกระบวนการต่าง ๆ ในแต่ละห้วงเวลา เช่น การจัดทำทะเบียน การตรวจสอบสมาชิกใหม่การแสดงตน และการบริจาคเงิน
แม้จะมีหลายกลุ่มบุคคล ออกมาแสดงความเห็นอย่างกว้างขวาง แต่เจตนาของ คสช.คือ ต้องการให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วม ในกระบวนการอย่างแท้จริง ทั้งในการแสดงตัวตน แสดงการบริจาคเงินให้ชัดเจน ในเมื่อนักการเมืองต้องการจะช่วยปฏิรูปประชาธิปไตยทำให้เกิดความโปร่งใสจริง ก็น่าจะยอมรับได้ หากอ้างว่าทำให้เกิดความยุ่งยาก อาจจะทำให้สังคมผิดหวัง
โดยก่อนที่จะมีคำสั่งนี้ คสช.ได้รับคำร้องการให้ความเห็น การเสนอแนวทางที่เหมาะสมและเป็นไปได้ การพิจารณาข้อกฏหมาย และผลกระทบต่างๆ รวมทั้งการประเมินสถานการณ์ และการขับเคลื่อนยุทธ ศาสตร์ รวมทั้งนโยบายต่างๆ อย่างรอบด้าน ควบคู่ไปกับ โรดแมปที่นำไปสู่การเลือกตั้ง จึงจำเป็นต้องกำหนดเงื่อนไขเวลา ขั้นตอนการปฏิบัติ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ ความมั่นคงของประเทศ ให้เกิดเสถียรภาพมากที่สุด