ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

พระไพศาล วิสาโล มอง “ปรากฎการณ์ตูน” เชื่อมร้อยสังคม สร้างรูปแบบใหม่ของการทำความดี

สังคม
25 ธ.ค. 60
14:15
4,241
Logo Thai PBS
พระไพศาล วิสาโล มอง “ปรากฎการณ์ตูน” เชื่อมร้อยสังคม สร้างรูปแบบใหม่ของการทำความดี
พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส มองว่า การวิ่งของ ตูน บอดี้แสลม เพื่อระดมเงินช่วยเหลือโรงพยาบาลที่ขาดแคลน เป็นการสร้างปรากฏการณ์การทำความดีรูปแบบใหม่

วันนี้ (25 ธ.ค.2560) พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส มองว่าการวิ่งของ ตูน บอดี้แสลม เพื่อระดมเงินช่วยเหลือโรงพยาบาลที่ขาดแคลน เป็นการสร้างปรากฏการณ์การทำความดีรูปแบบใหม่ และสามารถเชื่อมร้อยผู้คนในสังคมจำนวนมากให้หันกลับมาตระหนักถึงปัญหาระบบสาธารณสุขร่วมกัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ตูนกล้าทำ และหากเปรียบทางพุทธแล้วถือว่าตูนได้ฝึกฝนตามหลักธรรมเรื่อง ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา  

ปรากฎการณ์ตูน สะท้อนอะไรบ้าง

สิ่งที่ตูนทำเห็นได้ชัดถึงความเสียสละ และความพากเพียรพยายาม และที่สำคัญคือความกล้า เพราะการที่คนเราคิดที่จะวิ่ง 2,000 กิโลเมตร ในเวลา 55 วัน ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมีความกล้า ทั้งกล้าทำ และกล้าคิด คิดไม่เหมือนใคร ซึ่งปรากฏว่าเป็นการกระทำที่โดนใจคน ดึงความดีของคนออกมา ที่อยากจะมาช่วยทำความดีกับตูน ทั้งวิ่งกับเขาหรือบริจาคเงิน ก็เป็นการทำบุญอย่างหนึ่ง แต่การทำบุญทุกวันนี้ รูปแบบอาจจะซ้ำซาก จำเจ แต่สิ่งที่ตูนทำให้คนเห็นถึงการทำบุญที่แปลกใหม่ และสามารถจะดึงเอาคนมาร่วมกันทำความดี ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ เป็นความดีที่ดึงจิตใจให้มาเชื่อมโยงกัน และรู้สึกว่าทำแล้วเท่ห์ด้วย เพราะเป็นการทำบุญที่ไม่ซ้ำซากจำเจ

 

 

อาตมาคิดว่าสังคมควรจะมีการคิดค้นสร้างสรรค์ เรื่องการทำดีที่หลากหลายและโดนใจผู้คน ที่เคยทำดีแล้วก็ทำไปเรื่อยๆ แต่เราต้องคิดถึงเรื่องการทำความดีที่นอกกรอบ หรือรูปแบบที่ไม่ซ้ำซากจำเจ มันยังมีความคิดสร้างสรรค์ แต่ไม่ใช่สร้างสรรค์แบบแปลกใหม่อย่างเดียว ต้องสามารถดึงใจคนได้

สิ่งที่ตูนทำให้เห็นเป็นแบบอย่าง ก็คือดึงเอาความดีความเสียสละของผู้คนออกมา ถ้าเราดึงเอาความดีของผู้คนออกมามากๆ ทั่วทั้งสังคม จะเกิดพลังในการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ มากมาย และไม่ควรรอให้มีคนอย่างตูนเท่านั้น ควรจะเป็นคนอื่นที่ช่วยกันคิด ช่วยกันสร้างสรรค์ อย่าไปรอคนอย่างตูน หรือรอฮีโร่

เพราะอย่างที่ตูน บอก ทุกคนก็เป็นฮีโร่ พยาบาลก็เป็นฮีโร่ หมอก็เป็นฮีโร่ เพียงแต่ว่าเราต้องกล้าคิด กล้าทำ แม้เป็นเรื่องยาก สิ่งที่ตูนทำ อาตมาก็รู้ว่ายาก และก็ไม่รู้ว่าจะเดินไปถึงเป้าหมายหรือเปล่า แต่เขาก็กล้าทำ และพอกล้าทำแล้ว ก็มีโอกาสที่จะถึงเส้นชัยได้ ดังนั้น คนทำความดี ต้องมีความกล้าด้วย ความปรารถนาดีอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีความกล้าด้วย กล้าคิดสร้างสรรค์ กล้าคิดนอกกรอบ แล้วความดีก็จะผุดบานทั่วทั้งสังคม เหมือนดอกไม้

 

หลักธรรมที่อธิบายการกระทำต่อเนื่องจนสำเร็จได้

ใจรัก ก็คือ ฉันทะ ต้องมี พอเรามีฉันทะแล้ว แม้ยากแต่พอได้ทำก็มีความสุข และพอมีความสุขมันก็เกิดความเพียรเกิดความต่อเนื่อง ถ้าทำแล้วไม่มีความสุขก็ทำได้ไม่นาน แต่จะมีความสุขได้ก็ต้องมีฉันทะ พอมีฉันทะมีความรักในงาน ในสิ่งที่ทำ ก็ทำให้เกิดความสุข พอความสุขเกิดขึ้นก็ทำให้ทำได้เรื่อยๆ ทำแล้วมีความสุข เหนื่อยกาย แต่ใจมีความสุข นี่คือวิริยะ

พอทำแล้วก็ใคร่ครวญด้วยจิตที่ตั้งมั่น ถ้าเราทำความเพียรบ่อยๆ ทำไปอย่างต่อเนื่อง มันจะเกิดสมาธิ เกิดจิตตะ เกิดความตั้งมั่น แล้วควรจะหมั่นใคร่ครวญด้วยว่า มีอะไรที่ควรแก้ไขไหม บางครั้งก็ต้องอาศัยความรู้เท่าทันตัวเอง เมื่อร่างกายไม่ไหวแล้ว มันบอกว่า ฉันขอพักก็พักก่อน การที่ตูนจะวิ่งไปถึงจุดหมาย ต้องมีทั้งการวิ่งและการพัก และการพักก็ต้องดูเสียงเรียกร้องของร่างกาย ถ้าจะต้องพักก็ควรพัก แล้วจะทำให้เราสามารถวิ่งต่อไปได้

สังเกตว่าตูนวิ่งช้าทำให้วิ่งได้นาน และทำให้ถึงจุดหมายปลายทางได้ในที่สุด มีคำพูดที่เป็นภาษิตแอฟริกาว่า ถ้าอยากไปให้ถึงเร็วก็ไปคนเดียว แต่ถ้าอยากให้ไปได้นานๆ ก็ต้องไปด้วยกัน และการที่จะไปด้วยกันได้ ก็ต้องวิ่งแบบที่เรียกว่า ทุกคนก็สามารถมีส่วนร่วมได้ ก็คือวิ่งช้าๆ เดินช้าๆ แม้วิ่งช้า แต่ถึงเร็ว แต่ถ้าเดินเร็ว วิ่งเร็ว อาจไม่ถึงก็ได้ ดังนั้นการทำความดีบางทีมันยาก แต่เราค่อยๆทำ ทำไปเรื่อยๆ ทำไม่หยุด แต่ก็พักบ้าง

 

 

คุยกับผู้คนตลอดเส้นทาง-รณรงค์ทำความเข้าใจกับสังคม 

มองว่าสิ่งที่เขาทำเป็นการจุดประเด็นให้คนมาถกเถียงเรื่องระบบบริการสุขภาพ ไม่ใช่แค่โรงพยาบาล มีการถกเถียงกันเรื่องระบบบริการสุขภาพในปัจจุบันว่า มีอะไรบกพร่องไหม หรือแค่ขาดเงิน ทำไมถึงขาดเงิน ขาดงบประมาณ อาตมาว่าเป็นประโยชน์ถ้าเราใช้ประเด็นนี้มาเพื่อถกเถียงกัน เพื่อการพัฒนาระบบสุขภาพ ไม่ใช่เพื่อ 11 โรงพยาบาล แต่ให้มีผลกระทบต่อโรงพยาบาลทั้งหมดในประเทศไทย และมากกว่าโรงพยาบาลด้วย

เพราะระบบสุขภาพเป็นมากกว่าโรงพยาบาล โรงพยาบาลเป็นแค่ตั้งรับ แต่มันต้องมีการทำเชิงรุก ซึ่งเป็นเรื่องการออกกำลังกาย เป็นเรื่องการใช้ชีวิตอย่างเหมาะสม การบริหารร่างกายด้วย ซึ่งตูนพูดอยู่เสมอว่า จะช่วยเรื่องโรงพยาบาลก็ต้องดูแลสุขภาพให้ดี ก็ช่วยลดภาระโรงพยาบาล ลดภาระของหมอ ลดภาระงบประมาณด้วย จุดนี้ อาตมาคิดว่าน่าจะมาถกเถียงอภิปรายกัน

ตูนไม่เคยพูดตรงๆปัญหาเชิงโครงสร้าง ระบบงบประมาณ

ถูกแล้วที่ตูนจะไม่พูดประเด็นนี้ตรงๆ เพราะประเด็นนี้เมื่อพูดไปแล้ว จะเป็นการถกเถียงกันจนกระทั่งเกิดความเป็นฝักฝ่าย แต่ถ้าเลือกทำในสิ่งที่คนเห็นพ้องต้องกัน เอาจุดที่เห็นพ้องต้องกันเป็นจุดเริ่มต้น ก็จะนำไปสู่การร่วมมือกันในเรื่องอื่นที่ยาก รวมทั้งการปรับปรุงระบบสุขภาพให้ดีขึ้นได้

อาตมาคิดว่า เราต้องยอมรับข้อจำกัดของตูนว่า ถ้าจะทำแบบนี้ ก็ต้องหาจุดที่เป็นจุดร่วมของคนให้มากที่สุด แต่ “เราสามารถจะเริ่มต้นจากจุดที่ตูนทำอยู่ นำไปสู่ประเด็นที่สำคัญ โดยเฉพาะการปฏิรูประบบสุขภาพ เพื่อไม่ให้หมอและพยาบาลทำงานหนัก เพื่อไม่ให้งบประมาณถูกใช้อย่างมหาศาลเพียงเพื่อแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เราควรจะเอาจุดเริ่มต้นที่ตูนได้ทิ้งเอาไว้มาสานต่อ เพื่อเป็นการเปิดประเด็น หรือนำไปสู่การปฏิรูประบบสุขภาพอย่างแท้จริง”

 

คนที่ควรทำต่อ หมายถึงใคร

คือคนไทยทั้งประเทศไม่ใช่แค่รัฐบาล เพราะว่าเรื่องนี้คนไทยมักคิดว่า ถ้ามีโรงพยาบาลเยอะๆ โรงพยาบาลมีงบประมาณมากๆ คนไทยก็จะมีสุขภาพดีขึ้น แต่จริงๆ มันมากกว่านั้น โรงพยาบาลเป็นแค่ปลายเหตุ เป็นแค่การตั้งรับ

เปรียบเทียบสิ่งที่นพ.สงวน- ตูน ทำต่อระบบสุขภาพ

หมอสงวน นิตยารัมพงศ์ ทุ่มเทในการทำงานเพื่อรักษาเยียวยาความเจ็บป่วยของผู้คน แต่คุณหมอแทนที่จะทำแค่เป็นหมอธรรมดา ก็คือรักษาไข้ รักษาโรคไป ซึ่งไม่จบสิ้น เพราะว่าคนป่วยก็เยอะ และที่สำคัญก็คือ จะมีคนจำนวนมากที่ถูกทอดทิ้ง โรงพยาบาลไม่สามารถจะรองรับเขาได้ เพราะปัญหาอยู่ที่โครงสร้างหรือระบบสาธารณสุขเมืองไทยในเวลานั้นที่ทอดทิ้งคนจน คุณหมอสงวนจึงเห็นว่า แค่รักษาคนไข้รายต่อรายไม่พอ ต้องยกเครื่องหรือปฏิรูประบบ เพราะจะทำให้เกิดการรองรับคนที่ยากไร้ ให้ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม ควรแก่ความเป็นมนุษย์

ประเด็นที่คุณหมอเลือกคือ การทำหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่จริงคุณหมอทำมากกว่านั้น แต่ที่เด่นและส่งผลกระทบมากคือ การผลักดันโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งก็คือหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตรงนี้ช่วยคนได้ทั้งประเทศ 30 ล้านคน ที่อาจมีปัญหาในการเข้าถึงระบบสุขภาพก็ได้รับโอกาส ในแง่นี้คุณหมอไม่ได้แค่เสียสละในฐานะหมอ แต่คุณหมอทำให้เกิดการปฏิรูประบบทั้งหมด คือการแก้ไขเชิงโครงสร้าง ซึ่งยังไม่จบยังต้องทำ

สิ่งที่คุณหมอทำเรียกว่า ยืนระยะได้ยาวกว่าทำมา 30 ปี สิ่งที่ตูนทำ 55 วัน ซึ่งก็ต้องใช้ความเพียรเยอะ ถ้าให้คุณหมอสงวนมาวิ่งแบบตูนก็คงจะไม่ไหว แต่การที่ทำในฐานะหมอ และข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข ก็ทำได้อย่างยืดเยื้อยาวนาน แง่หนึ่งก็คล้ายกับตูนที่มีความอดทนและพากเพียรพยายาม เพียงแต่ว่ากว่าจะเห็นผลก็ต้องใช้เวลา 15 ปี เฉพาะเรื่องหลักประกันสุขภาพ

การทำความดีที่จะเปลี่ยนแปลงปฏิรูปโครงสร้าง ต้องมีความอดทนขนาดนั้น ไม่ใช่แค่ 55 วัน บางทีอาจจะต้อง 55 ปี ดังนั้น ก็ต้องมีความสุขและความมุ่งมั่น รวมทั้งฉันทะเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงอย่างคุณหมอสงวนก็มีฉันทะ ท่านบอกท่านมีความสุขในการทำงาน ความสุขนั้นก็หล่อเลี้ยงให้ทำงานช่วยเหลือชาวบ้านได้ถึง 30 ปี

 

สังคมไทยจะต้องทำอะไรต่อ หลังจากนี้

 เฉพาะ “เรื่องปฏิรูประบบสุขภาพ ยังต้องทำต่อ โดยเฉพาะปฏิรูปเรื่องการป้องกัน แทนที่จะแก้ไขหรือบรรเทา อย่างที่บอกคือโรงพยาบาลเป็นการตั้งรับ เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ต้องทำงานในเชิงรุก คือ การป้องกันไม่ให้คนเจ็บป่วย ซึ่งหมายถึงการปรับปรุงการใช้ชีวิต ระบบสุขภาพจะต้องหันมาเน้นเรื่องป้องกันการเจ็บป่วยให้มากขึ้น” เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ

อย่าลืมว่า สังคมไทยกำลังเป็นสังคมผู้สูงอายุ และถ้าเราปล่อยให้คนแก่ป่วย โรงพยาบาลมีเท่าไหร่ก็ไม่พอ เพราะการป่วยของคนแก่ กินเวลานานกว่าจะหายได้ ดังนั้น จะดีกว่าถ้ามีโอกาสได้รู้วิธีการดูแลสุขภาพ อันนี้ไม่ใช่คนแก่อย่างที่เป็นปัญหา คนในวัยอื่นก็เหมือนกัน


ดังนั้น การทำสิ่งที่เรียกว่า สาธารณสุขมูลฐานสำคัญมาก ที่เมืองไทยยังทำได้น้อย และอาจไม่ให้ความสำคัญเท่าไหร่ การทำงานเชิงรุกเพื่อป้องกันไม่ให้คนเจ็บป่วย สุขภาพดี ไม่ต้องรอให้ป่วยแล้วเข้าโรงพยาบาลกลายเป็นภาระของหมอโรงพยาบาล คงจะน้อยลง นี่คืองานที่น่าจะทำ ออกกำลังกาย วิ่งบ่อยๆ แบบตูน ก็จะป่วยน้อยลง เข้าโรงพยาบาลน้อยลง พยาบาล หมอก็จะเหนื่อยน้อยลง งบประมาณก็จะไม่ต้องใช้มากอย่างที่เป็นอยู่

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง