คลิปวิดีโอที่อ้างว่าเป็นหลักฐานการมอบเงินจำนวน 400,000 บาท ให้กับผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร เพื่อแลกกับที่นั่งของนักเรียนชั้นมัธยมปีที่ 1 ถูกเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ เมื่อเดือน มิ.ย.2560
ต่อมาในวันที่ 20 มิ.ย.นายวิโรฒ สำรวล ผู้อำนวยการโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย แถลงไม่ได้รับเงิน 400,000 บาทตามที่ปรากฏในคลิปวิดีโอแต่ยอมรับว่าเป็นบุคคลที่อยู่ในคลิป แต่เป็นการพูดคุยกับศิษย์เก่าคนหนึ่งเรื่องการบริจาคเงินซ่อมแซมรั้วและป้ายโรงเรียนเท่านั้น และนักเรียนคนดังกล่าวมีรายชื่อเข้าเรียนแล้ว เมื่อวันที่ 5 เม.ย.60 อยู่ในหลักเกณฑ์เงื่อนไขพิเศษ ผู้ปกครองจึงไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินเพื่อให้เด็กเข้าเรียน
ขณะที่ศิษย์เก่าเข้ายื่นหลักฐานต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) พร้อมยืนยัน มีการรับเงิน 400,000 บาทจริงและไม่มีการออกใบเสร็จให้
สินบนแลกที่นั่งเรียน กลายเป็นประเด็นที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์ ทำให้ สพฐ.ออกคำสั่งให้นายวิโรฒมาช่วยราชการที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 1 เป็นการชั่วคราว เพื่อสอบสวนหาข้อเท็จจริงและลดความขัดแย้ง มีผลตั้งแต่วันที่ 26 มิ.ย.เป็นต้นไป พร้อมแต่งตั้งนางพนัสดา สีมั่น รองผู้อำนวยการโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย เป็นรักษาราชการแทนผู้อำนวยการโรงเรียน
ต่อมาวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการ กพฐ.ในขณะนั้น เปิดเผยว่า คณะกรรมการสืบข้อเท็จจริงพบว่า นายวิโรฒมีมูลความผิดจริง เพราะเหตุการณ์ในคลิปวิดีโอ เมื่อวันที่ 19 เม.ย.2560 เป็นช่วงที่ห้ามระดมทรัพยากร และโรงเรียนไม่ได้ออกใบเสร็จให้ผู้ปกครองในวันดังกล่าว แต่ออกย้อนหลังในวันที่ 20 มิ.ย.2560 ซึ่งผิดระเบียบการรับเงินของกระทรวงการคลัง จึงตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรงนายวิโรฒ
แต่จนถึงขณะนี้เป็นเวลากว่า 5 เดือนแล้ว ผลการสอบสวนยังไม่แล้วเสร็จ นักวิชาการระบุว่า กระบวนการที่ล่าช้า ถือเป็นการประวิงเวลาและสะท้อนถึงนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ในการแก้ปัญหาการเรียกรับเงินเพื่อแลกกับที่นั่งในโรงเรียน
ไทยพีบีเอสพยายามติดต่อสัมภาษณ์นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการ กพฐ. แต่กลับปฏิเสธให้ข้อมูล โดยระบุว่าอยู่ในขั้นตอนการสอบสวนไม่ทราบรายละเอียด และจนถึงขณะนี้นายวิโรฒยังไม่ได้เข้าชี้แจงกับคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรงแต่อย่างใด
มีรายงานว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เตรียมออกระเบียบเพื่อตรวจสอบการบริจาคเงินให้โรงเรียน หวังแก้ปัญหาการเรียกรับเงินเพื่อแลกกับที่นั่ง หรือ แป๊ะเจี๊ยะ ให้หมดไปจากสังคมไทย